อนาคต SME ไทย แค่ใจรักอยางเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจและกล้าเสี่ยง
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในช่วงการปาฐกถาบนเวที MBA Forum โดยระบุว่า ปัจจุบันเป็นเวลาที่ผู้ประกอบการสามารถเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดาย ผ่านการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต หรือการค้นหาข้อมูลจาก Social media อาทิ เฟสบุ๊ค, ยูทูบ แม้แต่แอปพลิเคชันไลน์ ทำให้คนทำธุรกิจมีข้อมูล และความรู้มากขึ้นกว่าในอดีต
ผอ. สสว. เสนอแนะว่า การทำธุรกิจเอสเอ็มอีหลังจากนี้ไป ผู้ประกอบการจะต้องคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องเริ่มมาจากที่ตัวผู้ประกอบการเองก่อน โดยในอดีตการประกอบการเอสเอ็มอี เดิมทีเริ่มต้นที่ความรัก ใจที่อยากจะทำธุรกิจ แต่เวลานี้การคิดเท่านั้นไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มสิ่งที่เรียกว่าความเข้าใจเพิ่มไปด้วย
“ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจในมุมของลูกค้าว่าลูกค้ากำลังต้องการสิ่งใด แล้วเราสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่ อีกทั้งยังต้องดูทิศทางของตลาดว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นไร”
อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องกล้าที่จะสร้างความแตกต่างไปจากสินค้าชนิดเดิมๆ ที่เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน โดยนายสุวรรณชัย ยกตัวอย่างขนมไทยากิ ซึ่งเป็นขนมทั่วๆ ไปหาซื้อได้ง่ายในประเทศญี่ปุ่น แต่ภายหลังได้มีเจ้าของธุรกิจหัวใสเปลี่ยนวัตถุดิบในการทำแป้ง ทำให้ขนมไทยากิมีรสชาติที่ต่างไปจากเดิม ส่งผลให้คนทั่วไปให้ความสนใจ และต่อคิวแถวยาว ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นเพียงแค่การเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value Added) อย่างง่ายเท่านั้นเอง
นอกเหนือจากนี้นายสุวรรณชัย ยังให้คำแนะนำถึงเอสเอ็มอีไทยด้วยว่า ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ ทลาย Comfort Zone และอย่ากลัวที่จะล้มเหลว โดยเฉพาะในหมูู่คนทำเอสเอ็มอีอายุน้อยๆ ยังสามารถล้มเหลวได้ เพื่อเก็บเป็นบทเรียนในอนาคตได้ ส่วนคนที่เริ่มมีอายุแล้ว ผอ. สสว. เชื่อว่าด้วยประสบการณ์ในการทำเอสเอ็มอีของผู้ประกอบการ ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ ในวันที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว และเริ่มไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่มา : bangkokbanksme : อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/article/25725