ชี้ 3 เขื่อนน้ำน้อย อุบลรัตน์ – ป่าสักฯ – ทับเสลา สวนกระแสมีน้ำน้อยกว่า 30%

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์เฉพาะกิจฯ เฝ้าระวังเขื่อนอุบลรัตน์ – ป่าสักฯ – ทับเสลา หลังพบน้ำเข้าน้อยกว่า 30 % อ่างขนาดกลางอีก 44 แห่ง ย้ำการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะการอุปโภค-บริโภค ประสานกรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติเติมน้ำเขื่อนเพิ่มความชุ่มชื้น พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ปลูกพืชน้ำน้อยลดผลกระทบ

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญวันที่ 21 ส.ค.2561 ว่า จากการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำต่างๆ แม้ว่าขณะนี้เขื่อนหลายแห่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากเกินความจุที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังพบว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าน้อยกว่า 30% ของความจุ ที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ แยกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำปัจจุบัน 690 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ของความจุ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำ 151 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% ของความจุ  และเขื่อนทับเสลา ปริมาณน้ำปัจจุบัน 39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 25% ของความจุ ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง รวม 44 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันออก 4 แห่ง และภาคใต้ 5 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เร่งแผนปฏิบัติฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และเติมน้ำในเขื่อน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างการรับรู้ภาคประชาชนในการใช้น้ำอย่างประหยัด การปลูกพืชใช้น้ำน้อย  พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบความแห้งแล้งจากปริมาณฝนที่ไม่ตกลงในพื้นที่ด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 109% ของความจุอ่างฯ น้ำล้นทางระบายน้ำ(Spillway) สูง 1.44 ม. ปริมาณการระบายน้ำยังคงสูงแต่มีแนวโน้มทรงตัว โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ล้นตลิ่ง 22 ซม. และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 2 ซม. โดยมีแนวโน้มน้ำจะล้นตลิ่งที่อำเภอเมืองเพชรบุรีในเช้าวันนี้ (21 ส.ค.61)  ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน 
อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนครปริมาณน้ำ 101% มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำคิดเป็น 90% ของความจุ สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ กระทบพื้นที่รีสอร์ทที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ คิดเป็น 86% ของความจุ น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 60 ซม. และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 86% ของความจุ

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลง ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลง ช่วงวันที่ 21-23 ส.ค. 61 แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ทุกหน่วยงานจะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (21 ส.ค. 61) มีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง กระบี่ ตรัง และ สตูล และในช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. 61 ตอนเหนือของประเทศไทยจะมีร่องมรสุมพาดผ่านประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นคาดว่าจะทำให้เกิดฝนมากขึ้นบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำขณะนี้ที่ยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรีที่ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่ล้นอาคารระบายน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมตอนล่างบริเวณสุโขทัย ที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแม่น้ำโขง ที่ระดับน้ำสูงขึ้นจากฝนตกหนักในลาวและแนวโน้มระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้น โดยล้นตลิ่งที่ จ.หนองคาย และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.นครพนม และจ.อุบลราชธานี