ผ่าโจทย์หลัก “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ประโยชน์เพื่อใคร!!

  •  
  •  
  •  
  •  

รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอหลักการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยการกำหนดกรอบในการร่วมพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้ “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ใน 10 ด้านด้วยกัน งบประมาณกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดกว่า 9.95 หมื่นล้านบาท

ในจำนวนดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณของการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรบาท ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรสหกรณ์จำนวน 24,993.77 ล้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างเข้มข้นด้วยการตั้ง “War room ไทยนิยม ยั่งยืน เกษตร” ขึ้นมากำกับดูแลบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนโครงการในเชิงรูปธรรมที่เกษตรกรและประชาชนได้รับประโยชน์ตามเป้าหมาย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืน มุ่งตอบโจทย์ในการพัฒนาใน 2 ด้านหลักคือ ด้านเศรษฐกิจ ในการดูแลปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และด้านความมั่นคงของประเทศ ด้วยการจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียม ตามความต้องการของประชาชน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ พร้อมกับให้ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการนำปัญหาของแต่ละชุมชนมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไข จัดทำเป็นแผนงาน/โครงการตามหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด เน้นหลักการมีส่วนร่วม และตรงกับความต้องการของประชาชนหรือเกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรฯเชื่อมั่นว่าจะมีเกษตรกรทั่วประเทศได้ประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 4.3 ล้านคน

โดยกระทรวงเกษตรฯ วางแผนดำเนินการภายใต้งบประมาณ ปี 2561 ด้วยการวางเป้าเกษตรกรเข้าร่วม 2,285,653 ราย และส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพใหม่ๆ 1,935,353 รายล่าสุดเข้าร่วมแล้ว 1,828,590 ราย นอกจากนี้ ยังได้วางเป้ารายได้ที่ประชาชนและเกษตรกรได้รับ 1,307,993.750 บาทและรายได้ทางตรงจากการเข้าร่วมโครงการ 998,993.750 บาท รายได้ทางอ้อมจากการนำความรู้หรือปัจจัยการผลิตไปใช้ 303,780.000 บาท หรือก้าวหน้าไปประมาณ 15-20 % เนื่องจากโครงการที่ได้รับงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน ซึ่งต้องรอให้ฝนหยุดตกก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และโครงการส่วนใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการอบรมด้านอาชีพ ซึ่งต้องรอรายชื่อผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่แจ้งความประสงค์เข้าอบรมพัฒนาอาชีพ ขณะนี้บางโครงการมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าอบรมเกินโควตา บางโครงการมีผู้ลงทะเบียนไม่ถึงโควตาที่กำหนด รวมทั้งยังได้หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถดำเนินการเกลี่ยจำนวนผู้ลงทะเบียนให้สามารถรับประโยชน์ในการเบิกจ่ายค่าเดินทางเพิ่มอีกคนละ 250 – 300 บาท โดยโอนผ่านบัญชีธนาคาร จากเดิมที่จะได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 400 บาท

ส่วนกรณีการจัดซื้อเครื่องมือทางการเกษตรของสหกรณ์การเกษตร งบประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท โดยเป็นเงินในการอุดหนุนสหกรณ์การเกษตร 300 แห่ง ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร อาทิ รถยก สร้างลานตาก จัดซื้ออุปกรณ์อบแห้ง เป็นต้น โดยเบิกจ่ายผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น หลายฝ่ายกังขาในเรื่องที่มีการเสนอราคาแตกต่างกัน เนื่องจากรายละเอียดและคุณสมบัติของเครื่องมือ ซึ่งได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจลงไปตรวจสอบโดยด่วนแล้ว สำหรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ติดขัดอยู่นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหารือร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป และขอยืนยันว่ายังไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน กิจกรรมส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกยาง โดยการโค่นสวนยางเดิมที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 16,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปลูกยางพาราปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมใหม่ ขณะนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจข้อเท็จจริงและชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่แล้ว

“โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” จึงถือว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์หลัก ในการพัฒนา 2 ด้านไปพร้อม ๆ กัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ในการดูแลปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นตลอดจนไปถึงด้านความมั่นคงของประเทศตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลโดยแท้จริง โดยมีประชาชนในภาคเกษตรทั่วประเทศได้รับประโยชน์อย่างทั่งถึงกว่า 4.3 ล้านคน