พาณิชย์เผยราคาข้าวปทุมฯ อ่อนตัวจากการชะลอซื้อ ฝนตก แต่ภาพรวมส่งออกข้าวทั้งปียังดี

  •  
  •  
  •  
  •  
แฟ้มภาพประกอบข่าว

พาณิชย์เผยราคาข้าวปทุมฯ อ่อนตัวจากการชะลอซื้อ ฝนตก แต่ภาพรวมส่งออกข้าวทั้งปียังดี เนื่องยังมีคำสั่งซื้อเข้ามา

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากประเด็นราคาข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะมีผลจากผู้ประกอบการมีการชะลอการรับซื้อข้าว เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตก ส่งผลให้การขนย้ายข้าวลงเรือเพื่อส่งออกล่าช้าไปบ้าง แต่จากสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยตั้งแต่ต้นปี ไทยมีคำสั่งซื้อข้าวจำนวนมากจากประเทศ ผู้นำเข้าข้าวสำคัญ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ ทั้งในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) รัฐบาลต่อเอกชน (G to P) และเอกชนต่อเอกชน (P to P) ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อปริมาณมากมารองรับผลผลิตข้าวไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคาข้าวไทยให้มีเสถียรภาพและเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการส่งออกข้าวไทย โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการส่งมอบข้าวตามคำสั่งซื้อข้างต้น

สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อข้าวแบบ G to G จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ประสานกับ COFCO Corporation เพื่อเริ่มเจรจาซื้อข้าวในงวดที่ 6 ปริมาณ 100,000 ตัน โดยมีกำหนดส่งมอบข้าวในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าตลาดอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และแอฟริกา ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่มีความต้องการนำเข้าข้าวจากภาคเอกชนไทยเพิ่มขึ้น ทำให้มีคำสั่งซื้อมารองรับผลผลิตข้าวที่จะออกในช่วงปลายปีด้วย นอกจากปัจจัยบวกดังกล่าวข้างต้น กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดข้าว และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อกระตุ้นและผลักดันการส่งออกข้าวไทย เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด และข้าว กข43 ให้เพิ่มมากขึ้น จึงมั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2561 จะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10 ล้านตันอย่างแน่นอน

สำหรับด้านการผลิตที่ขณะนี้อยู่ในช่วงนาปรัง 2561 ได้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2561 ร้อยละ 86.73 ของพื้นที่เพาะปลูก หากเทียบกับความต้องการข้าวจากต่างประเทศข้างต้น ไม่น่าจะมีเหตุผลที่ราคาข้าวจะลดลง อย่างไรก็ตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ปริมาณข้าวที่มีทั้งของเกษตรกรและผู้ประกอบการทั้งระบบ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบปริมาณข้าวในสต็อกของผู้ประกอบการค้าข้าว ทั้งผู้ส่งออกที่ต้องดำรงสต็อกตามกฏหมายและผู้ประกอบการโรงสี โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2561 เพื่อให้ทราบปริมาณข้าวที่แท้จริง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการทางการตลาดปัจจุบันและสำหรับฤดูการผลิต ปี 2561/62 ในปลายปีต่อไป

 

ที่มา  : ประชาชาติธุรกิจ  : อ่านเพิ่มเติม  : https://www.prachachat.net/economy/news-177783