“ระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ผู้รับซื้อผลผลิตได้สินค้าที่มีปริมาณและคุณภาพแน่นอนตามที่ต้องการ เกษตรกรไม่มีความเสี่ยงด้านการตลาด เพราะได้ราคาตามกฎกติกามาตรฐานคุณภาพที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้การทำสัญญาเกิดความเป็นธรรม และยังเป็นระบบที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นอีกด้วย” นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงข้อดีของ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 23 ก.ย.60 ที่มีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจดแจ้งเข้าสู่ระบบแล้ว 167 ราย เห็นได้จาก บริษัท เป๊ปซี่–โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตมันฝรั่งอบกรอบ “เลย์” นำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้กับการปลูกมันฝรั่ง…จากเดิมการปลูกมันฝรั่งในบ้านเรา ได้ผลผลิตเฉลี่ยแค่ไร่ละ 2–3 ตัน แต่พื้นที่ 1,500 ไร่ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้ผลผลิตสูงถึง 5 ตัน จนทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการเพาะปลูกมันฝรั่งของประเทศไทย
“เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า เข้ามาช่วย พัฒนาการปลูกมันฝรั่งมาตลอด นำเทคโนโลยี นำเครื่องจักรมาใช้ในการปลูกตั้งแต่เตรียมดิน ยกร่องแปลงพร้อมใส่ปุ๋ย หว่านหัวพันธุ์พร้อมกลบดินเมื่อมันฝรั่งโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวมีเครื่องจักรกลมาช่วยในการขุด คนงานทำหน้าที่แค่เก็บผลผลิตใส่ตะกร้านำเข้าโรงคัดเกรด โดยมีเจ้าหน้าที่บริษัทฯมาตรวจสอบคุณภาพให้ราคาตามที่ระบุไว้ในสัญญา” นายบุญศรี ใจเป็ง ผู้นำกลุ่มเกษตรกรปลูกมันฝรั่ง บอกว่า ในฐานะที่เป็นเกษตรกรอยากได้เงินมากต้องผลิตสินค้าจำนวนมาก แต่การปลูกมากถ้าไม่มีความมั่นคงด้านการตลาดจะมีความเสี่ยงวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ทำระบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรกต์ฟาร์มมิง เพราะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจในรายได้ของตัวเอง เพราะในสัญญาระบุชัดต้องผลิตในจำนวนและคุณภาพที่สัญญากำหนด ถึงจะได้ราคาตามที่ตกลงกัน ถือว่าเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีต
ด้าน นายชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด มองว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ให้อุตสาหกรรมภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรได้ประโยชน์ เนื่องจากมีการประกันราคารับซื้อ มีการทำสัญญารับซื้อผลผลิต มีจุดรับซื้อที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรสามารถนำมาวางแผนการผลิตให้สอดคล้องได้ รวมทั้งระบบนี้ยังช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ ระบบเกษตรพันธสัญญาจึงถือเป็นระบบที่ตอบโจทย์ปัญหาในภาคเกษตรได้ในระดับหนึ่ง และเป็นระบบที่จะช่วยยกระดับระดับอุตสาหกรรมเกษตรไทยให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงได้ ถ้ากระทรวงเกษตรฯยังคงยึดมั่นในหลักการ “วิน–วิน” ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย.
ที่มา: ไทยรัฐ : ชาติชาย ศิริพัฒน์ : https://www.thairath.co.th/content/1307849