หอยทากยักษ์ได้กินอาหารดี-มีความสุข เมือกที่ได้ก็จะดี และสร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยง เพราะตลาดครีมบำรุงผิวสกัดจากเมือกหอยทากยังไม่เสื่อมความนิยม ส่งขายได้ไกลถึงเกาหลีใต้-สหรัฐฯ-จีน
ผลการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยโดย “Forbes” นิตยสารด้านเศรษฐกิจระดับโลก เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รายงานว่าเจ้าของธุรกิจครีมบำรุงผิวที่มีสารสกัดจากเมือกหอยทาก มีรายได้รวมปีที่ผ่านมาในระดับพันล้านดอลลาร์ และได้ติดโผ 50 มหาเศรษฐีไทยเป็นครั้งแรก ทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สตามไปรายงานความเคลื่อนไหวในธุรกิจเพาะเลี้ยงหอยทากในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ
จากการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดนครนายก พบว่ามีฟาร์มหอยทากประมาณ 85 แห่ง รวมถึงฟาร์มของ “นายธวัชชัย มณีมาตร” ซึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่าเขาใช้พื้นที่ฟาร์มประมาณ 21 ตารางเมตรในการจำลองสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเพื่อเพาะเลี้ยงหอยทากยักษ์แอฟริกา จำนวนกว่า 3,000 ตัว พร้อมทั้งให้อาหารปลอดสารพิษอย่างผักใบเขียวและแตงกวาออร์แกนิก เพื่อให้หอยทากมีความสุข เพราะเมื่อหอยทากมีความสุขก็จะให้เมือกที่ดี และจะสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงอีกต่อหนึ่ง
การเก็บเมือกหอยทากจะเริ่มจากนำหอยทากยักษ์มาวางไว้บนจานเพาะเลี้ยงและหยดน้ำลงไป เพื่อให้หอยทากยักษ์ผลิตเมือกออกมา หลังจากนั้นจึงจะเก็บเมือกดังกล่าวไปบรรจุขวด และส่งให้กับบริษัทผู้ผลิตสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งจะนำเมือกหอยทากไปใช้ประกอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่นๆ
เมือกหอยทากจากไทย ส่งไปขายเกาหลีใต้-สหรัฐฯ-จีน
รอยเตอร์สรายงานว่าผู้รับซื้อเมือกหอยทากจากฟาร์มของ “นายธวัชชัย มณีมาตร” คือ บริษัท เอเดน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตผงสกัดจากเมือกหอยทากที่ปัจจุบันส่งออกไปยังเกาหลีใต้และสหรัฐฯ โดย “นายวรนัน ภัทรธุวานัน” ประธานกรรมการบริษัท เอเดนฯ ระบุว่า ทางบริษัทผลิตเครื่องสำอางจากเมือกหอยทากเองด้วย และส่งไปขายที่ประเทศจีน ซึ่งเขาไม่ได้เปิดเผยชื่อแบรนด์สินค้า แต่ยืนยันว่าการดำเนินธุรกิจนี้มีข้อดีตรงที่ใช้ต้นทุนต่ำ และให้ผลประกอบการที่สูง
ส่วนข้อดีของเมือกหอยทาก คือ มีคอลลาเจนและสารอื่นๆ ที่ช่วยให้ความชุ่มชื้น และเชื่อว่าช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยของผิว ประกอบกับธุรกิจเครื่องสำอางของประเทศเกาหลีใต้ก็นำเมือกหอยทากมาประกอบครีมบำรุงผิวต่างๆ จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้การเพาะเลี้ยงหอยทากยักษ์ส่งออก หรือแม้แต่ผลิตสินค้าในประเทศไทย เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับผู้เพาะเลี้ยง โดยกรณีของนายธวัชชัย ระบุว่าเขามีรายได้จากการขายเมือกหอยทากประมาณเดือนละกว่า 30,000 บาท
สายพันธุ์ต่างด้าว-ต้องเฝ้าระวังหรือไม่
ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยทากเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น แต่การเลี้ยงหอยทากยักษ์แอฟริกา ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศภายในพื้นที่ได้
เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มิตรหรือศัตรู” โดยอ้างอิงข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด แต่ไม่ใช่ทุกชนิดจะเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่มารุกรานเบียดเบียนสายพันธุ์ท้องถิ่นเสมอไป
สายพันธุ์ต่างถิ่นที่พบส่วนมากเป็นสัตว์น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาโดยตรงเพื่อผลประโยชน์ทางการเกษตร และการเพาะเลี้ยง หรือเป็นพืชและสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่บางชนิดก็แพร่ระบาดข้ามพรมแดนผ่านการติดมากับการคมนาคมขนส่ง
กรณีของหอยทากยักษ์แอฟริกาถูกนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2500 และเกิดการระบาดไปทั่วประเทศใน 15 ปีต่อมา เพราะหอยทากยักษ์แอฟริกาสามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงสืบพันธุ์ออกลูกออกหลานได้ง่าย จึงกลายเป็นศัตรูพืชทางการเกษตร แม้ว่าจะมีการหาทางออกด้วยการปล่อยหนอนตัวแบนนิวกินีเข้าสู่พื้นที่เพื่อกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา แต่หนอนตัวแบนนิวกินีก็ไล่ล่าหอยทากท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
ที่มา : Sanook.com