แพะ…ปลดหนี้ หนทางดิ้นคนสวนยาง

  •  
  •  
  •  
  •  

ในยุคที่“ยางราคาตกต่ำ” ข่าวเกษตร”ไทยรัฐ” เจาะประเด็น หันไปทางไหนเจอแต่เจ้าหนี้ชาวสวนยางเดือดร้อนกันไปทั่ว ไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ เราเลยต้องคิดหาหนทางปลดหนี้ พบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดซื้อขายส่งออกแพะไปประเทศจีน ราคาไม่เคยตก เลี้ยงเท่าไหร่ส่งออกไปขายได้หมด เราเลยคิดโครงการแพะปลดหนี้ขึ้นมา” ไพศาล ยอดจันดา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางภูจองนาจะหลวย จำกัด จ.อุบลราชธานี บอกถึงที่มาของโครงการแพะปลดหนี้ให้กับสมาชิกเป็นหนี้กว่า 200 ราย

ที่ได้เริ่มมา 6 เดือนที่แล้ว โดยสหกรณ์ฯได้เชิญอาจารย์ผู้ เชี่ยวชาญเรื่องแพะ จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาเป็นวิทยากรอบรมให้สมาชิกมีความรู้ในการเลี้ยงแพะอย่างถ่องแท้ทุกขั้นตอน…ตั้งแต่การสร้างโรงเรือน เน้นประหยัดใช้วัสดุในท้องถิ่น ให้ความรู้เรื่องการปลูกหญ้าเนเปียร์อาหารแพะ การอนุบาลแพะวัยอ่อน การเลี้ยงขุนด้วยอาหารธรรมชาติ และอาหารข้น จนกระทั่งสามารถทำคลอดลูกแพะได้ด้วยตัวเอง จากนั้นสหกรณ์ฯจะคัดเลือกสมาชิก 30 ราย ที่มียอดหนี้มากกว่า 100,000 บาท

มาเข้าโครงการนำร่องก่อน ให้แม่พันธุ์แพะสายพันธุ์บอร์ ที่ผสมจนท้องแล้วและพร้อมผสมพันธุ์ ไปเลี้ยง 25 ตัว เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ขายดีที่สุด โดยเฉพาะจีนต้องการไม่อั้น…แต่ครั้งแรกจะให้นำไปทดลองเลี้ยงก่อน 5 ตัว เพื่อทดสอบความสามารถในการเลี้ยงว่าทำได้ดีแค่ไหน แต่ทำได้จะทยอยส่งแพะไปเลี้ยงจนครบ 25 ตัว ภายใน 1 ปี เมื่อเลี้ยงจนได้ลูก เกษตรกรนำลูกแพะไปขุนเลี้ยง จนได้น้ำหนักตัวละ 30 กก. ต้องส่งคืนให้สหกรณ ฯนำไปจำหน่ายต่างประเทศ ได้เงินมาหักหนี้ค่าแม่พันธุ์ที่นำไปเลี้ยงตัวละ 5,500 บาท


ส่วนหญ้าเนเปียร์สหกรณ์ฯจะสนับสนุนท่อนพันธุ์ให้นำไปปลูก เมื่อได้ผลผลิต เกษตรกรจะต้องคืนท่อนพันธุ์ให้สหกรณ์ฯ จำนวน 2 เท่าของท่อนพันธุ์ที่ได้รับแจกฟรี จากสหกรณ์ฯ เพื่อนำไปให้เกษตรกรรายอื่นได้ปลูกต่อไป สำหรับอาหารข้น วัคซีน ยารักษาโรค สหกรณ์ฯจะจัดให้ฟรีในแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และหากเป็นมือใหม่ ฉีดยาไม่เป็น หรือเกิดปัญหาอะไร จะมีทีมงานเข้าไปช่วยเหลือทุกขั้นตอน ไพศาล เผยว่า เราได้คิดคำนวณแล้ว ถ้าสมาชิกเลี้ยงแพะ 25 ตัว จะลงทุนค่าแม่พันธุ์ทั้งหมด 137,500 บาท ในระยะเวลา 1 ปี จะได้ลูก 50 ตัว เมื่อขุนให้ได้น้ำหนักตัวละ 30 กก. ขายได้ กก.ละ 115 บาท จะขายแพะขุนได้เงิน 172,500 บาท

สรุปแล้วเกษตรกรในโครงการแพะปลดหนี้…เลี้ยงปีแรกมีกำไรจากแพะ เลี้ยงปีที่สองได้กำไรมาปลดหนี้ทำสวนยาง ส่วนสมาชิกที่เลี้ยงแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แพะเกิดตายไปเป็นจำนวนมาก หนี้สินที่เกิดขึ้นใหม่ทางสหกรณ์ฯจะพิจารณางดดอกเบี้ยค่าแม่พันธุ์ไว้ก่อน จนกว่าจะหาอาชีพเสริมที่เหมาะสมให้ใหม่ต่อไป….เป็นอีกทางเลือกทางรอดที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรไทยที่มีสหกรณ์ฯเป็นที่พึ่งได้.

ที่มา : ไทยรัฐ …โดย ..ไชยรัตน์ ส้มฉุน