“หมูย่าง-ปลาดุกร้า” หมูย่างหนึ่งเดียว พัทลุง ปลาดุกร้าสมุนไพรรายแรกประเทศไทย ยอดขายพุ่งหลายเท่าตัว หมูย่าง 1 สัปดาห์ ทำยอดขาย 300,000 บาท ปลาดุกร้าสมุนไพร ขยายตัว มูลค่ายอดขายเพิ่ม 4 เท่าตัว ชี้ ทิศทางตลาดอาหารสุขภาพ
นางเพียงเพ็ญ คงแสง ประธานกลุ่มแปรรูปปลาดุกร้าสมุนไพรชุมพล เงาะป่าซาไก เลขที่ 241 หมู่ที่ 1 บ้านชุมพล ต.ชุมพล อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 ปลาดุกร้าสมุนไพรชุมพล เงาะป่าซาไก จ.พัทลุง ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณจาก 40 กก./รอบ เป็น 200 กก./รอบ เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูง แต่กำลังการผลิตก็ยังคงไม่เพียงพอ เพราะขาดโรงเรือนที่ทำการแปรรูป จึงไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้
ทั้งนี้ปลาดุกร้าสมุนไพรชุมพล เป็นสูตรน้ำหมักสมุนไพรเงาะป่าซาไกที่กำลังได้รับความนิยม ได้รับการรับรองให้เป็นของดีจังหวัดพัทลุง คือ เป็นภูมิปัญญาเอกลักษณ์จังหวัดพัทลุงด้วย นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง กำลังทำการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าซื้อเป็นของฝากได้ด้วย ปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มถึง 50,000 บาท จากเดิม 10,000 บาท จากอัตราผลิตเฉลี่ย 2 วัน/รอบ
“ปลาดุกร้า ยังคงราคาไว้ที่ 250 บาท/กก. มีการเปิดให้จองล่วงหน้า ตลอดจนออกบูธงานสำคัญหลายจังหวัด ไปจนถึงในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการขาย การตลาดยังขยายตัวได้อีกมาก เพราะเป็นสินค้าบริโภคที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพ”
“ส่วนการแปรรูปปลาดุกร้าสูตรสมุนไพร จะใช้ปลาดุกบิ๊กอุยที่รับซื้อปลาจากคนในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมนอกจากรับซื้อในตลาดทั่วไป โดยเลือกซื้อปลาดุกที่เลี้ยงจากบ่อดิน ทำให้ปลาเนื้อนุ่ม มีรสชาติอร่อย วิธีการผลิตก็จะนำปลาดุกสดประมาณ 50 กก. มาแปรรูปเป็นปลาดุกร้า เมื่อแปรรูปเสร็จจะได้ปริมาณ 16 กก. ไม่มีสารเจือปน เป็นสูตรเฉพาะของเงาะป่าซาไก มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย และถือว่าเป็นเจ้าเดียว และเจ้าแรกของประเทศไทย และนอกจากผู้บริโภคกจะได้รับโปรตีนจากเนื้อปลาแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากสมุนไพรด้วย”
ด้านนายวีระ เพ็ญจำรัส นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า หมูย่างพัทลุง ต.อ่างทอง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ได้ดำเนินการมาประมาณ 5 ปี และได้โอท็อปชวนชิมประมาณ 2 ปี ขณะนี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก เพราะได้ออกบูธงานต่าง ๆ ที่เมืองทองธานี คลองผดุงงกรุงเกษม กรุงเทพฯ และงานโอท็อปทั่วประเทศ ซึ่งงานผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปภูมิภาค ที่ จ.สุราษฎร์ธานี สามารถทำยอดขายได้กว่า 300,000 บาท ภายใน 7 วัน ส่วนยอดขายที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณวันละ 50,000 บาท – 60,000 บาท
“ปกติขายในวันเสาร์และอาทิตย์ ในพื้นที่ จ.พัทลุง เฉลี่ยขายหมูย่างได้ 2-3 ตัว/วัน ทั้งปลีกและส่ง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากร้านกาแฟใน จ.พัทลุง ที่มีการสั่งไปจำหน่ายต่อเพื่อรับประทานกับน้ำชา กาแฟ นอกจากหมูย่างแล้วยังมีการแปรรูปเป็นหมูแผ่น รูปแบบเหมือนกับปลาหมึกบรรจุถุงมีโลโก้ ราคาอยู่ที่ 400 บาท/กก. แต่ในกรุงเทพฯ ราคาจะอยู่ที่ 600 บาท เพราะต้องบวกกับค่าขนส่ง โดยใช้การส่งทางเครื่องบิน”
หมูย่างพัทลุง อนาคตจะสามารถวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้ แต่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราการผลิตให้พอกับความต้องการของตลาดก่อน โดยจะต้องผลิตถึง 5-6 ตัว/วัน ในการผลิตจะต้องได้หมูที่มีขนาดน้ำหนักประมาณ 50 กก. เมื่อนำผลิตเป็นหมูย่าง จึงจะมีมูลค่าเพิ่มถึงตัวละ 10,000 บาท ส่วนระบบการผลิตบริหารจัดการถูกต้องเป็นไปตามตามสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป จ.พัทลุง ปี 2560 รวมแล้วทำยอดขายได้ 1,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มียอดขายเพียง 995 ล้านบาท โดยส่วนมากจะเป็นสินค้าระดับ 5 ดาว และมีส่วนแบ่งตลาด 40% ส่วนอีก 60% เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และในปี 2561 ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปจะตั้งเป้าเพิ่มประมาณการผลิตอีก 20% ทื้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน อย. รวมถึงทำการตลาดต่างประเทศ ที่ขณะนี้มีประเทศ มาเลเซีย สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น ฯลฯ กว่า 10 ประเทศที่สนใจ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ