เกษตรกร “สวนกุหลาบ” ปรับตัว หันมาปลูกทานตะวัน-พิทูเนีย

  •  
  •  
  •  
  •  

เจ้าของสวนกุหลาบเชียงรายดิ้นปรับตัว ลดพื้นที่ปลูกกุหลาบปรับเพิ่มไม้ดอกประเภทอื่น “ทานตะวัน-พิทูเนีย” มาแรง พร้อมจัดโซนเป็นสถานที่ชมวิวบริการนักท่องเที่ยว เพิ่มไลน์ธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่ม

นายพูลศักดิ์ คิดมุ่ง เจ้าของสวนกุหลาบพูลศักดิ์ ตั้งอยู่เลขที่ 259 หมู่ 13 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในอดีตที่ผ่านมาสวนของตนเน้นการปลูกดอกกุหลาบต้นเป็นหลัก โดยปลูกเกือบเต็มทั้งสวนจนได้ชื่อว่าสวนกุหลาบพูลศักดิ์ อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ ตลาดไม้ดอกไม้ประดับเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการสั่งซื้อดอกชนิดเดียวจากพ่อค้าแม่ค้าน้อยลง ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความนิยมของผู้บริโภค แหล่งปลูกมีมากขึ้น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจสวนไม้ดอกไม้ประดับตนจึงได้ปรับตัวด้วยการปรับพื้นที่สวนให้มีความหลากหลายของสายพันธุ์พืชมากยิ่งขึ้น

เพิ่มความหลากหลาย – เกษตรกรเจ้าของกุหลาบในจังหวัดเชียงรายเริ่มปรับตัวหันไปปลูกไม้ดอกไม้ประดับชนิดอื่น ๆ เนื่องจากตลาดมีความต้องการน้อยลง

“หลังการปรับตัว พบว่าทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ เพราะพืชหลายชนิดใช้เวลาน้อย และมีมูลค่ามากกว่าพืชเดิม ๆ โดยเดิมกุหลาบใช้เวลาดูแลต้นเดียวกันตลอดทั้งปี และเมื่อผลิดอกก็มีอายุอยู่ได้เพียงประมาณ 7 วัน จำหน่ายช่อละประมาณ 30-40 บาท แต่พืชใหม่ เช่น ดอกทานตะวันใช้เวลาดูแลต้นละเพียงประมาณ 3-4 เดือน มีความคงทนกว่า และจำหน่ายดอกละกว่า 50 บาท ส่วนดอกพิทูเนียพบว่ามีอายุผลิดอกได้เรื่อย ๆ นานกว่า 5-6 เดือน ทั้งยังจำหน่ายได้ช่อละกว่า 30-40 บาท รวมทั้งหากดูให้เป็นพุ่มใหญ่จะมีราคาสูงกว่า 80-150 บาท” นายพูลศักดิ์กล่าว

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ปรับธุรกิจกันโดยถ้วนหน้า เช่น สวนดาวจำรัสแสง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน มีการจัดเนื้อที่สวนประมาณ 50 ไร่ ให้มีพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวที่หลากหลายและยังจัดแบ่งเป็นโซนพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยว เช่น ศูนย์อาหาร กาแฟ สถานที่ชมวิว จุดพักผ่อนชมสวนดอกไม้ เป็นต้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ