เริ่มแล้ว!! งานมหกรรม “ภูมิพลังแผ่นดิน” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคมนี้ ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ปทุมธานี ปีนี้จัด 6 ฐานนิทรรศการ “ผู้น้อมนำ ภูมิพลังแผ่นดิน-วิถีดิน วิถีชีวิต วิถีเกษตร-ดินดี มีชีวิต-ภูมิศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ดิน-พืชฟื้นฟูดิน-นักปรับปรุงดิน” รวมทั้งรเสวนา “ผู้น้อมนำ..ภูมิพลังแผ่นดิน” และอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการฟรี!! มากกว่า 20 หลักสูตร
วันที่ 5 ธันวาคม 2567 นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรม “ภูมิพลังแผ่นดิน” โดยมี นายภูผา ลิกค์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พกฉ.) นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ณ อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี
นายอิทธิ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พกฉ.) จัดงานมหกรรม “ภูมิพลังแผ่นดิน” ขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเชิดชูเกียรติในฐานะที่พระองค์ได้รับการสดุดีให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม และเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและการพัฒนาดินอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน การจัดการดินอย่างยั่งยืน เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน ตลอดจนแนวพระราชดำรัส “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการดำรงชีวิตที่มั่นคง
ด้านพันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการ พกฉ. กล่าวเพิ่มเติมว่า งานมหกรรม “ภูมิพลังแผ่นดิน” ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 8 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดย พกฉ. ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ นิทรรศการ “ภูมิพล ดลดิน” ที่แสดงถึงพระเกียรติคุณพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการดินเพื่อการเกษตร นำเสนอและถ่ายทอดภูมิปัญญาการจัดการดิน รวมทั้งการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีการจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ภายในงานจัดให้เรียนรู้การผสมดินสูตรพิเศษของพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ นิทรรศการ “ผู้น้อมนำ ภูมิพลังแผ่นดิน” จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ นิทรรศการจากหน่วยงานภาคีความร่วมมือ เช่น นิทรรศการของกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม บริษัทไปรษณีย์ไทย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
นอกจากนี้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ได้ร่วมกันจัด 6 ฐานนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการ “ผู้น้อมนำ ภูมิพลังแผ่นดิน” “วิถีดิน วิถีชีวิต วิถีเกษตร” “ดินดี มีชีวิต” “ภูมิศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ดิน” “พืชฟื้นฟูดิน” และ “นักปรับปรุงดิน” รวมทั้งมีการเสวนา “ผู้น้อมนำ..ภูมิพลังแผ่นดิน” อบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ มากกว่า 20 หลักสูตร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในรูปแบบ Onsite และ Online เช่น หลักสูตร“ศาสตร์ยาสมุนไพรไทย” โดยพระมหาขวัญชัย อัคคชโย จ.ชุมพร หลักสูตร “การจัดการดินเพื่อการเกษตร” โดยอาจารย์อัญธิชา พรมเมืองคุก หลักสูตร “การแปรรูปผลิตภัณฑ์ สู่เกษตร” โดยอาจารย์พิมพ์ใจ ดวงเนตร กรุงเทพฯ
หลักสูตร “เกษตร 9 รู้ 9 รอด” โดยอาจารย์เฉลิม พีรี จ.กำแพงเพชร หลักสูตร“กระบองเพชรยักษ์กินได้” โดยอาจารย์วนิดา วรรณสโร จ.นครปฐม หลักสูตร “เห็ดเยื่อไผ่” และ Workshop “สบู่วุ้นเห็ดจากเยื่อไผ่” โดยอาจารย์จันทร์พิมพ์ อินทร์ภิบาล จ.ลำปาง และหลักสูตร “ปุ๋ยจานด่วน” โดยอาจารย์เพชรรุ่ง พุกกะเวส จ.จันทบุรี อีกทั้งยังมีการออกบูธจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ อาหารพื้นบ้านจากทุกภูมิภาค และพันธุ์ไม้กว่า 200 ร้านค้า ตลอดทั้ง 4 วัน รวมทั้งเปิดให้เข้าชม 2 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา และพิพิธภัณฑ์ดินดล พร้อมกิจกรรมพิเศษ สินค้าขาดทุนคือกำไร กิจกรรมล่าตราประทับรับของที่ระลึก กิจกรรมเพาะ แจก แลก เปลี่ยน พิเศษสุดสำหรับผู้มาร่วมงาน มอบชุดจุลินทรีย์บำรุงดิน สูตรลับฉบับพิพิธภัณฑ์การเกษตร จำนวน 999 ชุด อีกด้วย
ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ขอเชิญประชาชนร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระภิกษุสงฆ์จำนวน 59 รูป เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ร่วมรับชมการแสดงโขนจากชมรมโขนเซนต์คาเบรียล และจุดเทียนมหามงคลสดุดีเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ร่วมกัน ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี