“อิทธิ” ดันผลิตอาหารหยาบจาก “ข้าวโพดหมัก” เลี้ยงโคนมลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

“อิทธิ” ขับเคลื่อนโครงการผลิตอาหารหยาบ หนุนใช้ ‘ข้าวโพดหมัก’ เลี้ยงโคนมหวังให้น้ำนมดิบคุณภาพสูง ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พร้อมสั่งให้ขยายพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศทั้งสิ้น 5,500 ไร่อีกด้วย

วันที่ 26 ตุลาคม 2567 นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินซับสนุ่น จำกัด ต.ซับสนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่และร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรค โดยมี นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม

จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบนโยบายแนวทางการลดต้นทุนอาหารสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยเร่งขับเคลื่อนโครงการผลิตอาหารหยาบคุณภาพสูง โดยการส่งเสริมการใช้ข้าวโพดหมัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตโคนม ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย ซึ่งในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก กรมปศุสัตว์ ได้มีการบูรณาการร่วมกับ อ.ส.ค. และสหกรณ์โคนมซับสนุ่น ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอย่างยั่งยืน  ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค อีกทั้งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกรมปศุสัตว์จะดำเนินการขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 5,500 ไร่อีกด้วย

โอกาสนี้ นายอิทธิ  ได้กล่าวชื่นชมสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินซับสนุ่น จำกัด ที่มีความตั้งใจในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตน้ำนมดิบและสร้างความยั่งยืนให้กับสมาชิก สำหรับสหกรณ์แห่งนี้ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2547 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมา 20 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 186 ราย จำนวน 128 ฟาร์ม โคนม 5,706 ตัวพื้นที่ดำเนินการตำบลซับสนุ่น ตำบลลำพญากลาง ตำบลหนองย่างเสือ จังหวัดสระบุรี และตำบลห้วยขุนราม จังหวัดลพบุรี มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบขนาด 25 ตัน/วัน ในปีบัญชีที่ผ่านมาสหกรณ์ดำเนินธุรกิจมีกำไร สุทธิ 4.463 ล้านบาท

จากนั้นได้นำคณะ เดินทางเยี่ยมชมฟาร์มโคนมต้นแบบ “ภูพานเพชร” ของนายสมพงษ์ ภูพานเพชร ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย (จำกัด) ซึ่งมีการส่งเสริมการใช้ข้าวโพดหมักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตโคนม โดยมีโคที่เลี้ยงทั้งหมด 115 ตัว โครีด 53 ตัว โคพักรีด 14 ตัว โคสาว 21 ตัว โครุ่น 21 ตัว ลูกโค 6 ตัว ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา กรมปศุสัตว์ได้ให้คำแนะนำปรับสูตรอาหารตามประสิทธิภาพการผลิต ทำให้มีปริมาณนมเพิ่มขึ้น 41% จากเดิม ปริมาณนมเฉลี่ย 11.24 กก./ตัว/วัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 15.92 กก. /ตัว/วัน ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย