ความก้าวหน้าในการปกป้องข้าวจากภัยแล้ง

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

Brian Staskawicz ผู้อำนวยการ Innovative Genomics Institute (IGI) Sustainable Agriculture และทีมวิจัย ได้ใช้ CRISPR เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาข้าวทนแล้ง

ยีน STOMAGEN (ย่อมาจาก “stomata generator”) มีความสำคัญต่อการพัฒนาปากใบ ก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้ลดจำนวนปากใบโดยปิดการใช้งานหรือ “กำจัด” ยีน STOMAGEN ในข้าว ทำให้จำนวนปากใบลดลงประมาณร้อยละ 80 การลดจำนวนปากใบสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำได้ แต่ก็ลดความสามารถของพืชในการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง การเจริญเติบโตของพืช และผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ในข้าวมีสำเนาหรือ paralog (หน่วยพันธุกรรมที่มีลำดับเบสเหมือนหรือคล้ายกันแต่อยู่ต่างกลุ่ม) ของยีน STOMAGEN ที่เรียกว่า EPFL10 ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมที่เหมือนกันเกือบทั้งหมด ทีมวิจัยตัดสินใจที่จะตรวจสอบว่า EPFL10 อาจเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาได้หรือไม่

การใช้ CRISPR ทำให้ Nicholas Karavolias และเพื่อนร่วมงาน สามารถเปรียบเทียบยีน STOMAGEN และ EPFL10 ได้ และพบว่า EPFL10 ก็ช่วยส่งเสริมการพัฒนาปากใบในข้าวเช่นเดียวกับ STOMAGEN แต่จะมีผลน้อยกว่า และการทำให้ EPFL10 หยุดการทำงานจะลดจำนวนของปากใบลง แต่น้อยกว่าการหยุดการทำงานของ STOMAGEN

ในการทดลองอื่น ๆ ของทีมวิจัย การหยุดการทำงานของยีน STOMAGEN จะส่งผลเสียต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทีมวิจัยยังสังเกตว่าการหยุดทำงานของยีน STOMAGEN จะทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมอุณหภูมิใบในบางสภาวะ ในขณะที่การหยุดทำงานของยีน EPFL10 ยังคงสามารถควบคุมอุณหภูมิได้เช่นเดียวกับพืชที่ไม่ได้แก้ไขยีนในทุกสภาวะที่ทดสอบ และท้ายที่สุด ทีมวิจัยไม่ได้พบความแตกต่างของผลผลิตระหว่างสายพันธุ์ข้าวที่พัฒนา

ครับ ความรู้ในระดับพันธุศาสตร์โมเลกุลมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ทนแล้ง ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในสถาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://innovativegenomics.org/news/protecting-rice-drought/