กรมการข้าว ปิ๊ง “ข้าวเบายอดม่วง” เล็งดันเป็นข้าว GI ของเมืองตัง ชี้รสชาติดี นุ่ม กลิ่นหอม น่ากิน เหมาะผู้สูงอายุ

กรมการข้าว ปิ๊งข้าวพื้นเมืองจังหวัดตรัง  “ข้าวเบายอดม่วง” เล็งผลักดันให้เป็นข้าวที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  “GI” ประจำจังหวัดในอนาคต ชี้ลักษณะเด่น เมื่อสีเป็นข้าวสารจะมีสีขาวขุ่น เมล็ดเล็กยาวรี ชาวบ้านเรียกว่า “ข้าวเจ้าเหนียว” มีกลิ่นหอม รสชาติดี นุ่ม น่ารับประทาน เหมาะสำหรับให้ผู้สูงอายุ

       นาวสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวระหว่างลงพื้นที่ดูงานข้าวพันธุ์พื้นเมืองและผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มสมัชชาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์เบายอดม่วง ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการประชุมวิชาการในเรื่องของการเตรียมพันธุ์ข้าวที่จะขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าวในปี 2564 – 2567 และเป็นการลงพื้นที่สำรวจพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดตรัง ที่มีความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการข้าวมีแนวทางในด้านการวิจัย ที่จะพัฒนาทิศทางและอนาคตของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นเรื่องสำคัญ

     สำหรับแนวทางที่จะพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะที่หลากหลายตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พร้อมทั้งปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ปัญหาของเกษตรกร แก้วิกฤติ และพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่า และรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนผลักดันพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นให้ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนในพื้นที่

       อย่างไรก็ตามกรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ที่ดูแลในพื้นที่ของจังหวัดตรังนั้น มีพันธุ์ข้าวประจำจังหวัดตรัง ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่หลากหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น ข้าวเบายอดม่วง  เป็นข้าวพันธุ์เบานาปี อายุการเก็บเกี่ยว 4 เดือน 20 วัน เป็นข้าว ต้นสูงประมาณ 1.50 เมตร ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 400 กิโลกรัม

        ลักษณะเด่นที่เปลือกเมล็ดข้าว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีม่วงเหมือนสียอดมะม่วงเบา เมล็ดข้าวสาร มีเยื่อหุ้มเมล็ดทั้งสีขาวขุ่นคล้ายข้าวเหนียว และสีแดงคล้ายข้าวสังหยด เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วจะมีสีขาวขุ่น เมล็ดข้าวสารเล็กยาวรี ชาวบ้านเรียกว่า “ข้าวเจ้าเหนียว” มีกลิ่นหอม รสชาติดี นุ่ม น่ารับประทานเหมาะสำหรับให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อเจริญอาหารนิยมปลูกมากในพื้นที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอดและพื้นที่ใกล้เคียง

        ปัจจุบันข้าวเบายอดม่วงกำลังได้รับความนิยม และเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อรับรองพันธุ์ข้าวให้เป็นข้าวพันธุ์บริสุทธิจากกรมการข้าว และหวังผลักดันให้เป็นข้าวที่เป็นลักษณะสิ่งทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ (GI) ประจำจังหวัดตรังในอนาคต