กรมส่งเสริมการเกษตร กำชับทุกพื้นที่เข้าสู่โหมดรับบมือ “พายุวิภา” หวั่นกระทบเกษตรกร

                                                                  พีรพันธ์ คอทอง

กรมส่งเสริมการเกษตร กำชับทุกพื้นที่เข้าสู่โหมด เตรียมรับมือ “พายุวิภา” จ่อเข้าภาคเหนือ อีสานตอนบน ภาคตะวันตกของภาคกลาง รวมภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักหรือหนักมากหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและลดผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการเตรียมรับมือพายุโซนร้อน “วิภา” ที่จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกเกิดฝนตกหนักหรือหนักมากหลายพื้นที่ว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งระดับเขต จังหวัด อำเภอและตำบล เร่งเข้าสู่โหมดการปฏิบัติตัวในช่วงเตรียมพร้อมและตอบสนองอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและลดผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยง

สำหรับแนวทางปฏิบัติในช่วง “เตรียมพร้อม” 1. จัดทำและทบทวน แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย (Flood Risk Map) พร้อมจำแนกกลุ่มพืชที่มีความเปราะบางต่อภาวะน้ำท่วม เช่น ข้าว ข้าวโพด พืชผัก พืชสวน สำรวจข้อมูล ชนิดพืช ปริมาณผลผลิต และอายุของพืช ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมแผนรองรับ,2. ตรวจสอบและเตรียม เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือระบายน้ำ และอุปกรณ์ที่จำเป็น ให้พร้อมใช้งานทันที,3. วางแผน ลดความเสี่ยง ด้วยการปรับแปลงเพาะปลูก สร้างคันกั้นน้ำ ตัดแต่งกิ่งพืช และเก็บเกี่ยวบางส่วนล่วงหน้า หากจำเป็น,4. แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ผ่าน ทุกช่องทางการสื่อสาร อย่างต่อเนื่อง,5. ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการย้ายทรัพย์สิน ปัจจัยการผลิต หรือผลผลิตขึ้นที่สูง หลีกเลี่ยงความเสียหาย

ส่วนแนวทางปฏิบัติในช่วงประสบภัยพิบัติ 1. เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตรทันทีเมื่อน้ำเริ่มขัง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ,2. เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกซ้ำ และน้ำจากต้นน้ำไหลหลาก,3. ประสานกับท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการตอบสนองเร่งด่วน,4. ให้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอและตำบล เป็นด่านหน้าในการเฝ้าระวังและให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการปฏิบัติ ในระดับพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันอย่างเป็นระบบ “เตรียมพร้อมวันนี้ เพื่อลดผลกระทบในวันพรุ่งนี้”และขอให้เกษตรกรติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน