เตือนผู้เพาะเลี้ยงพืชอวบน้ำในกลุ่มไม้หนาม ถ้าต้องการส่งต้องอนุญาต เผยเป็น“พืชอนุรักษ์”ภายใต้อนุสัญญาไซเตส

กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงพืชอวบน้ำในกลุ่มไม้หนาม ในวงศ์ไดดิเรียซีอี และวงศ์เฟาเควอเรียซีอี หากต้องการทำค้าระหว่างประเทศ ต้องขอใบอนุญาต เพราะเป็น“พืชอนุรักษ์” ภายใต้บัญชีแนบท้ายของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ “ไซเตส” เผยหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
     นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรขอแจ้งเตือนเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงหรือค้าพืชอวบน้ำในกลุ่มไม้หนาม ได้แก่ พืชในวงศ์ไดดิเรียซีอี (Didiereaceae) และวงศ์เฟาเควอเรียซีอี (Fouquieriaceae) ซึ่งเป็น“พืชอนุรักษ์” ภายใต้บัญชีแนบท้ายของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES)
หากทำการค้าระหว่างประเทศ ต้องยื่นขอใบอนุญาต CITES Permit และขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ กับกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากพืชกลุ่มนี้กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการลักลอบเก็บหาจากธรรมชาติเพื่อการค้า รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าจากกิจกรรมทางการเกษตรทำให้หลายชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์และต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
     พืชอวบน้ำ (Succulent Plant) เป็นกลุ่มพืชที่วิวัฒนาการทางสรีระวิทยามาเพื่อกักเก็บน้ำในส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ลำต้น ใบ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ โดยหนึ่งในกลุ่มพืชอวบน้ำที่น่าสนใจและกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ปลูกไม้ประดับ คือ กลุ่มไม้หนาม ซึ่งนอกจากจะมีลำต้นอวบน้ำแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษคือ ใบหรือก้านใบแปรสภาพเป็นหนามเพื่อป้องกันอันตราย แต่ก็ยังคงมีใบจริงอยู่ด้วย โดยมีความสวยงามแปลกตา เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ แม้ประเทศไทยจะไม่มีถิ่นกำเนิดของพืชกลุ่มดังกล่าว
จากความนิยมในกลุ่มผู้รักพืชอวบน้ำส่งผลให้ไม้หนามหลายชนิดถูกนำเข้ามาเพาะเลี้ยงและจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เกษตรกรและผู้เพาะเลี้ยงอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าไม้เหล่านี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ CITES และการดำเนินการโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาจเข้าข่ายความผิด ซึ่งไม้หนามที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย ได้แก่ อัลเลาเดีย โพรเซอรา (Alluaudia procera), อัลเลาเดีย โคโมซา (Alluaudia comosa), ไดดีเรีย มาดากัสการีเอนซิส (Didierea madagascariensis), ไดดีเรีย โรลลิอาย (Didierea trollii) และซิกแซก (Decaryia madagascariensis)
     นายภัสชญภณ กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรและผู้เพาะเลี้ยงให้ตรวจสอบก่อนว่า พืชที่ปลูกหรือเพาะเลี้ยงอยู่ในบัญชี CITES หรือไม่  ในกรณีที่เป็นการปลูกเลี้ยงเพื่อเป็นไม้ประดับภายในบ้านเรือนหรือทำการค้าขายในประเทศไม่มีความผิด แต่หากต้องการทำการค้าระหว่างประเทศต้องยื่นขอใบอนุญาต CITES Permit และขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ กับกรมวิชาการเกษตร ถ้าฝ่าผืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2578 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์ และซากของพืชอนุรักษ์ ต้องได้รับหนังสืออนุญาตพืชอนุรักษ์จากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชโทรศัพท์: 0 2940 5687, 0 25790919 อีเมล: citesplantpermit@gmail.com Line ID: citesflora.th และ Facebook Page: CITES Flora Thailand