คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา จัดถกวิกฤตขยะพิษคุกคาม หลังพบ 5 จังหวัดมีสารเคมีปนเปื้อนบาดาล รองประธานสมาชิกวุฒิสภา “พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์” ชี้การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยผิดกฎหมายทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อดีตมือปราบพยัคฆ์ไพร จากสิงห์บุรี “ชีวะภาพ ชีวะธรรม ” ชี้สาเหตุมาจากการขาดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม และกฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งพอ เตรียมชงข้อมูลให้รัฐบาลแก้ กม.-ปิดช่องโหว่ ก่อนกลายเป็น”แดนขยะโลก”
พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยผิดกฎหมายกลายเป็นอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม” จัดโดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.68 ที่ผ่านมา ณโรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี
โดยมีนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , นายกิตติศักดิ์ หมื่นศรี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 , นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 3 , นายโชคชัย กิตติธเนศวร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 4 , นายจำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการสมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภาและคณะที่ปรึกษาเข้าร่วมในงานสัมมนาครั้งนี้
พลเอก เกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจุบันการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยผิดกฎหมายทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีกรณีศึกษาที่คณะกรรมาธิการฯ ตรวจพบ เช่น การพบกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนักในแหล่งน้ำบาดาลถึง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดราชบุรี และจังหวัดระยอง
นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด รวมถึงกฎหมายภายในประเทศและประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
รองประธานวุฒิสภา ชี้ว่า ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของกฎหมาย การบังคับใช้ที่ยังไม่เข้มงวด และการขาดมาตรการ รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสมในการจัดการ การสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีสำคัญในการระดมความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา วิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขทั้งในมิติของกฎหมาย นโยบาย และการยกระดับการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ระบุ คณะกรรมาธิการสันนิษฐานว่า สาเหตุหลักของปัญหานี้มาจากการขาดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม, กฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะควบคุมการจัดการกากของเสีย ขยะพลาสติก และการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่องโหว่ในระบบการตรวจสอบ, การดูแลรักษาของกลางในคดีที่ไม่มีประสิทธิภาพ, รายงานการติดตามการเคลื่อนย้ายและกำจัดของเสียที่ขาดประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันก็ยังพบว่าการลักลอบทิ้งของเสียยังได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมผิดกฎหมายในระดับองค์กรหรือเครือข่ายจากต่างประเทศ จึงหวังว่าการเสวนาในครั้งนี้จะได้มาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว เช่น การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยและครอบคลุม, ส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการขยะอันตราย
“ข้อเสนอแนะทั้งหมดจากการสัมมนาในครั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง” นายชีวะภาพ กล่าว.