สศท.12 พาพิสูจน์ปลูกข้าวแบบ “ตัดตอซัง” พบศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังน้ำแดง จ.กำแพงเพชร ทำได้จริง ลดต้นทุน 41 % รายได้เพิาม 3 เท่า

สศท.12 ลงพื้นที่ท้าพิสูจน์ เกษตรกรต้นแบบที่ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังน้ำแดง จ.กำแพงเพชร พบปลูกข้าวแบบ “ตัดตอซัง” ไม่ไถ ไม่เผา ลดต้นทุนถึง 41 % สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากแบบเดิมถึง 3 เท่า

นางเจนธิชา ชัยชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนนั้น การปลูกข้าวแบบ “ตัดตอซัง” ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงโครงสร้างดิน รักษาความชุ่มชื้นในแปลงนา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ในภาคการเกษตร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม

                                                                       เจนธิชา ชัยชาญ  

จากการที่ สศท.12 ลงพื้นที่จั ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังแดง หมู่ 17 ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ได้พบกับนายเสมอ นาคเมือง เกษตรกรต้นแบบและประธานศูนย์ฯ ได้นำแนวทางการปลูกข้าวแบบตัดตอซังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่ายเกษตรกรมาช่วยพัฒนาแนวทางการผลิตข้าวให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยใช้แนวทางนี้ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี บนพื้นที่ 40 ไร่ สำหรับการปลูกข้าวแบบตัดตอซัง นิยมปลูกในรอบฤดูการทำนา (รอบที่ 2) ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำนา (รอบที่ 1) นายเสมอ จะลงตัดตอซังต้นข้าวตามหลังรถเกี่ยวข้าวทันทีเพราะฟางที่ยังสดจะนิ่ม ตัดง่าย และช่วยให้กระจายคลุมดินได้อย่างทั่วถึง โดยใช้รถไถต่อพ่วงกับเครื่องตัดตอซัง (เครื่องตัดหญ้า) ฟางที่ถูกกระจายจะคลุมดินสม่ำเสมอ ส่วนในพื้นที่เปียกจะใช้ล้อโหย่งติดตั้งกับรถไถ เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์จมดินหรือทำให้แปลงนาเสียหาย ซึ่งฟางข้าวที่กระจายอยู่จะช่วยรักษาความชื้นและป้องกัน การงอกของวัชพืชทั้งนี้ ข้าวตัดตอซังมีความแข็งแรง ไม่ค่อยพบโรคเชื้อรา และไม่ต้องใช้ยาฆ่าหอย เนื่องจากไม่มีการหว่านต้นกล้าใหม่ หอยเชอรี่ ไม่สามารถกัดกินต้นข้าวที่แข็งแรงจากตอเดิมได้ ซึ่งพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในการเพาะปลูก คือ กข 85  และ กข 41

สำหรับการปลูกข้าวแบบตัดตอซัง (การทำนารอบที่ 2) ปีเพาะปลูก 2567/68 พบว่า สามารถลดต้นทุนเหลืออยู่ที่ 3,170 บาท/ไร่/รอบการผลิต หากเทียบกับการทำนาแบบเดิมที่มีต้นทุนเฉลี่ย 5,335 บาท/ไร่/รอบการผลิต หรือลดลงร้อยละ 41 เนื่องจากใช้ตอซังจากนารอบแรกทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการไถเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์และค่าปลูก โดยรอบตัดตอซังให้ผลผลิตเฉลี่ย 900 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต หากเทียบกับการทำนารอบที่ 2 แบบเดิมได้ผลผลิตเฉลี่ย 750 กิโลกรัม/ไร่/  รอบการผลิต หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

เนื่องจากตอซังเก่ายังสามารถแตกกอใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ฟางที่กระจายช่วยคลุมดิน รักษาความชื้นและเป็นปุ๋ยพืชสดโดยธรรมชาติ ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ขณะเดียวกันยังลดวัชพืชและศัตรูพืชโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ดังนั้น จึงส่งผลให้นายเสมอ มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 6,188 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นรายได้เฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 5,960 บาท/ไร่/รอบการผลิต ซึ่งสูงกว่ารอบปลูกปกติถึง 3 เท่า

อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิม 60 – 70 กิโลกรัม/ไร่ เหลือเพียง 40 – 50 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากลดต้นทุนและสารเคมีในแปลงนาแล้ว ข้าวตัดตอซังยังช่วยลดระยะเวลาการเพาะปลูกได้อย่างน้อย 15 – 20 วัน เมื่อเทียบกับการเตรียมแปลงใหม่ในระบบเดิม ทำให้สามารถจัดรอบการผลิตได้ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยไม่ต้องรอฤดูกาล และเพิ่มโอกาสในการเก็บเกี่ยวก่อนช่วงน้ำหลากหรือภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นปลูกข้าวแบบตัดตอซังในแต่ละพื้นที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละแปลง โดยตนเองแม้อยู่ในพื้นที่ชลประทานที่มีน้ำเพียงพอและไม่ประสบปัญหาน้ำหลาก ก็ยังต้องลองผิดลองถูกอยู่ราว 2 ปี กว่าจะพัฒนาแนวทางที่ลงตัวกับสภาพพื้นที่ของตนได้สำเร็จ แม้ต้นทุนการผลิตในรอบแรกจะค่อนข้างสูงจากการเตรียมดินและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ แต่การปลูกข้าวรอบที่สองแบบตัดตอซังช่วยลดต้นทุนผันแปรลงได้อย่างมาก จึงสามารถช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนรวมของทั้งรอบการผลิตให้ต่ำลง และสร้างรายได้สุทธิต่อพื้นที่ที่คุ้มค่าในภาพรวม

ความสำเร็จที่เกิดขึ้ยด้วยการผลักดันและสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และ สำนักงานเกษตรอำเภอทรายทองวัฒนา ที่ส่งเสริมให้ นายเสมอ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในเวทีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่น เช่น อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอไทรงาม และอำเภอคลองขลุงที่เริ่มให้ความสนใจและปรับใช้แนวทางนี้กับแปลงของตนเองอย่างแพร่หลาย

การปลูกข้าวตัดตอซังจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่เหมาะสมนำมาปรับใช้สำหรับพื้นที่ที่สามารถจัดการน้ำได้ตลอดรอบการผลิต เป็นวิธีการที่ลดต้นทุน 2,000 – 2,300 บาท/ไร่ ประหยัดเวลาเตรียมแปลง 15 – 30 วัน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการเผา สร้างความยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และทรัพยากร

หากเกษตรกรหรือท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังแดง หมู่ 17 ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 084 595 9471 หรือ สศท.12 โทร. 0 5680 3525 หรืออีเมล zone12@oae.go.th