กมธ.เกษตรฯ วุฒิสภา ดันใช้ “เช็คแล้ง” สู้แล้งซ้ำซาก หวังให้เกษตรพ้นวิกฤต

ธวัช สุระบาล

กรรมาธฺการเกษตรฯ วุฒิสภา ผลักดินให้แพลตฟอร์ม “Crops Drought” แอปพลิเคชันสู้ภัยแล้งซ้ำซาก ที่รู้จักในนาม “เช็คแล้ง”  ของ GISTDA  เพื่อรับมือกับวิกฤติภัยแล้งซ้ำซากที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างหนัก เผยไม่ใช่แค่แอปฯ ธรรมดา แต่เป็นระบบอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสุดล้ำ! สามารถติดตามสถานการณ์พืชเกษตรรายแปลงจากภัยแล้งได้อย่างแม่นยำ

นายธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมาธิการเตรียมผลักดันแพลตฟอร์ม “Crops Drought” หรือที่รู้จักกันในชื่อแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ของ GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญระดับชาติ เพื่อรับมือกับวิกฤติภัยแล้งซ้ำซากที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างหนัก

ทั้งนี้แพลตฟอร์ม “เช็คแล้ง” ไม่ใช่แค่แอปฯ ธรรมดา แต่เป็นระบบอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสุดล้ำ! สามารถติดตามสถานการณ์พืชเกษตรรายแปลงจากภัยแล้งได้อย่างแม่นยำ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ที่สามารถช่วยบอกเกษตรกรให้รู้สถานะภัยแล้งของแปลงเพาะปลูกตัวเองได้ทันที

นอกจากนี้ยังแสดงแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งแบบละเอียด ทั้งรายตำบล อำเภอ จังหวัด หรือแม้แต่รายโครงการชลประทานและลุ่มน้ำ , อัปเดตสถานการณ์ทุกเดือน ไม่ต้องรอลุ้น อีกทั้งยังสามารถคาดการณ์ปริมาณฝนและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า 4 เดือน จะวางแผนรับมือได้แต่เนิ่นๆ

นายธวัช กล่าวอีกว่า แอป “เช็คแล้ง” จะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อการใช้ที่ดินและทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานหลักที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย (ปภ.), สทนช., กรมอุตุนิยมวิทยา, GISTDA, กรมทรัพยากรน้ำ, และหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับจังหวัดเป็นกลไกในการประสานงาน

“การผลักดัน “เช็คแล้ง” ครั้งนี้ จึงเป็นความหวังครั้งใหม่ของพี่น้องเกษตรกรไทย ให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน” นายธวัช กล่าวและว่าทางคณะกรรมาธิการยังได้ให้ความสำคัญถึงการแก้ไขภัยแล้งนอกเขตชลประทาน ซึ่งจะต้องสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติมให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานอีกด้วย