นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน ธ.ก.ส. ร่วม“งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี” ประจำปี 2568 เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สะท้อนผ่านความวิจิตรงดงามของต้นเทียนที่สร้างความประทับใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน โดยปี 2568 ธ.ก.ส. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสร้างต้นเทียนพรรษาแกะสลักขนาดใหญ่วัดไชยมงคล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ชื่อชุด “จุติพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์”อันประณีตสวยงาม โดยมีขนาดความยาวของต้นเทียนถึง 16 เมตร 57 เซนติเมตร สูง 5.5 เมตร ถ่ายทอดเรื่องราวทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 หน้าขบวน แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้าง สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่และความสง่างามของพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งมีบทบาทในฐานะเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์
ส่วนที่ 2 แกะสลักเป็นรูปพญาอนันตนาคราช 5 เศียร ขนดหาง แสดง ถึงความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ และการปกป้องคุ้มครอง โดยมีพญาอนันตนาคราช เป็นนาคที่มีความสำคัญในความเชื่อของไทยและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ โดยมี 5 เศียรและขนดหางที่ขดตัวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและความอุดมสมบูรณ์
ส่วนที่ 3 แกะสลักเป็นซุ้มเรือนแก้วพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ทรงประทับนั่งบนบัลลังก์แก้วประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตโดยมีพระหัตถ์ทั้ง 2 ทรงดอกบัวตูม พระศรีอริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้
ส่วนที่ 4 ส่วนของลำต้นเทียนพรรษา แกะสลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์พระศรีอริยเมตไตรยด้วยลวดลายอันวิจิตรบรรจง ส่วนฐานปั้นแกะสลักเป็นรูปกินรีถือดอกบัว ปีกและหางแกะสลักด้วยลายกนกกินรีอย่างสวยงาม,ส่วนที่ 5 แกะสลักเป็นซุ้มเรือนแก้วพระพุทธรูปปางสมาธิ,และส่วนที่ 6 แกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระพุทธศาสนา ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นอกจากนี้ ยังมีขบวนนางรำแห่เทียนพรรษาจากโรงเรียนพุทธเมตตาวิทยา จ.อุบลราชธานี โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ประกอบการแสดง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดขบวนนางรำในธีม “ฟ้อนสาละวันสะออนอีสานมินิฮาร์ต” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงด้านการขับร้องอันเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นในดินแดนลุ่มน้ำโขง โดยจะพบอย่างแพร่หลายในแถบภาคใต้ของ สปป.ลาว โดยเฉพาะในพื้นที่แขวงสาละวัน และด้วยความมีเสน่ห์ของการรำและการฟ้อนสาละวัน ทำให้ศิลปะแขนงนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะในแวดวงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมที่มีความหมายความสำคัญและเหมาะสมแก่การอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ให้คงอยู่สืบไป
ธ.ก.ส. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมใน“งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี 2568” ระหว่างวันที่ 9 – 13 กรกฎาคม 2568 รวม 5 วัน บริเวณรอบทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังสามารถมาเลือกซื้อสินค้าของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในจังหวัดอุบลราชธานี อาทิ มะม่วงหิมพานต์สว่างวีระวงศ์ สดใหม่คั่วใหม่ทุกวันจากวัตถุดิบคุณภาพสูง เม็ดใหญ่เต็ม ไม่หัก กลิ่นหอม รสชาติมัน กรอบ อร่อย มาดามโซ่โรงก๋วยจั๊บอุบล สูตรอุบลแท้ เส้นสดครบจบ ในซองเดียว มาพร้อมกับข้าวปุ้นซาวน้ำปลาร้า และน้ำพริกตั๊กแตน อาหารพื้นบ้านของชาวอีสาน ไขมันต่ำ เหมาะกับคนรักสุขภาพ ข้าวอินทร์ จากวิสาหกิจแปลงใหญ่ข้าวบ้านเกษม ข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพ คุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นต้น