กมธ.ทรัพย์ฯ วุฒิสภา ปิ๊งระบบสมาร์ทซิตี้เมืองบรูจส์ของเบลเยี่ยม เล็งนำความรู้ดูงานที่ยุโรป ดันรัฐบาลเปลี่ยนโฉมการรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม

กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา เล็งนำความรู้จากการไปศึกษาดูงานระบบจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมจากเนเธอร์แลนด์-เบลเยี่ยม ผลักดันฐบาลไทยเปลี่ยนโฉมการรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เผยสิ่งแรกที่ต้องลงมือแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย  ขณะที่ “ชีวะภาพ ชีวะธรรม” ปิ๊งระบบสมาร์ทซิตี้เมืองบรูจส์หนึ่งในโครงการ “Blue 4 Green” ของเบลเยี่ยม ที่ใช้ในการตรวจสอบและบริหารจัดการน้ำที่สามารถตรวจสอบคุณภาพของน้ำอย่างต่อเนื่อง ระบุหากตรวจพบสิ่งปนเปื้อนหรือความผิดปกติใดๆ ระบบจะทำการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมด้วยนายจำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปยังศาลาว่าการเมืองบรูจส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายพาโปล แอนนีส์ เทศมนตรีด้านกิจการทางสังคม ความเป็นอยู่ที่ดี ที่อยู่อาศัย พลังงานและสภาพภูมิอากาศ ของเมืองบรูจส์ และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการ Blue 4 Green ที่ มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อการจัดการภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

นายชีวะภาพ  กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้ได้รับทราบถึงแนวคิดและปฏิบัติที่น่าสนใจจากการบริหารจัดการน้ำของทั้งเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ซึ่งการที่ประเทศเหล่านี้ไม่ถมแหล่งน้ำและมีคลองจำนวนมากนั้น สะท้อนถึงปรัชญาการใช้ชีวิตร่วมกับน้ำอย่างชาญฉลาด ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยรักษาภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอย่างบรูจส์และอัมสเตอร์ดัมไว้เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม

เป็นแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ผิวน้ำในคลองช่วยดูดซับความร้อนและระบายความร้อนออกไป ทำให้พื้นที่รอบคลองมีอุณหภูมิที่เย็นสบายกว่าบริเวณอื่น ๆ และคลองจำนวนมากและระบบโครงสร้างที่เชื่อมโยงกัน ทำหน้าที่เป็น พื้นที่รับน้ำชั่วคราว ในช่วงที่มีฝนตกหนักหรือน้ำหลากจากแม่น้ำ การที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอย่างชาญฉลาดนี้ ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความยั่งยืนของเมืองในอนาคต

ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯวุฒิสภา กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ค้นพบจุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งที่คาดว่าจะนำมาเป็นแนวทางผลักดันในประเทศไทย นั่นคือ ระบบสมาร์ทซิตี้ของบรูจส์ที่ใช้ในการตรวจสอบและบริหารจัดการน้ำ ระบบดังกล่าวมีความสามารถในการ ตรวจสอบคุณภาพของน้ำอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบสิ่งปนเปื้อนหรือความผิดปกติใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ระบบจะทำการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในกรณีที่มี น้ำหลาก หรือสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่น้ำท่วม ระบบยังสามารถประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้ทันที การทำงานแบบเรียลไทม์และสามารถแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็วนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันความเสียหายและช่วยให้ประชาชนเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที คณะกรรมาธิการฯ มองว่าระบบสมาร์ทซิตี้เพื่อการบริหารจัดการน้ำนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีแผนที่จะนำองค์ความรู้และรูปแบบการทำงานของระบบนี้ไป ผลักดันให้ภาครัฐของประเทศไทยนำไปปรับใช้ ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อยกระดับความสามารถในการรับมือกับความท้าทายด้านน้ำท่วม ภัยแล้ง และปัญหามลภาวะทางน้ำของประเทศในอนาคต

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปยังที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหามลพิษภายใต้กรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศ การจัดการขยะและของเสีย รวมถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปและราชอาณาจักรเบลเยียม โดยนางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์และคณะอัครราชทูตที่ปรึกษา

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชีวะภาพ  ได้เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานเร่งด่วนภายหลังการศึกษาดูงานที่ประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ โดยเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญสองส่วนที่จะนำไปผลักดันต่อในประเทศไทย โดยสิ่งแรกที่คณะกรรมาธิการฯ จะต้องลงมือผลักดันคือ การแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย จากการเรียนรู้ประสบการณ์ของเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศปลายน้ำที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษจากประเทศต้นน้ำเช่นกัน ทั้งสองประเทศเลือกใช้แนวทางการเจรจาแบบทวิภาคี ในการจัดการปัญหา คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรนำแนวทางเดียวกันนี้มาปรับใช้เพื่อหารือและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายอย่างจริงจังและยั่งยืน

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญที่คณะกรรมาธิการฯ จะนำไปศึกษาต่อคือ บรรดากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป เนื่องจากยุโรปมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งและครอบคลุมหลายมิติ คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาว่าประเด็นใดบ้างในกฎหมายเหล่านั้นที่สามารถ ปรับมาใช้หรือเพิ่มเติม ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงมาตรการควบคุมมลพิษ การจัดการของเสีย การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือกลไกทางเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“การศึกษาดูงานและประชุมทวิภาคีในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่ดี แต่ยังเป็นการนำบทเรียนจากการเจรจาและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและวางรากฐานการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว” นายชีวะภาพ กล่าว