ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
“นฤมล” ประกาศ บนเวทีประชุมระดับภูมิภาคของกลุ่มพันธมิตรผู้บุกเบิกด้านระบบอาหาร ” First Movers Coalition โดย World Economic Forum” โชว์จุดแข็งภาคการเกษตรไทยมุ่งผลักดันระบบอาหารปล่อยคาร์บอนต่ำ ปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่ระบบอัจฉริยะด้านภูมิอากา เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคของกลุ่มพันธมิตรผู้บุกเบิกด้านระบบอาหาร “First Movers Coalition: Regional Meeting on Aggregated Global Market Demand for Low-Emission Agricultural Commodities” โดยมี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน กรุงเทพฯ
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรม มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่ระบบอัจฉริยะด้านภูมิอากาศ (climate-smart food system) ซึ่งถือเป็นทั้งความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงแสดงความพร้อมในการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน พร้อมสร้างมาตรฐานร่วมระบบติดตามย้อนกลับ และกลไกการเงินที่เหมาะสม โดยมุ่งหวังให้ระบบอาหารแห่งอนาคตมีความทนทาน ครอบคลุม เป็นธรรม และปล่อยคาร์บอนต่ำ
สำหรับเวที First Movers Coalition for Food (FMC for Food) เป็นความริเริ่มที่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) มีเป้าหมายเพื่อใช้พลังของการรวมอุปสงค์ (aggregated demand) ในการเร่งปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง โดยเน้นในกลุ่มสินค้าเกษตร 6 ชนิดที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหารโลก ได้แก่ ข้าว พืชไร่ เนื้อวัว นม ถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์มโดยภายหลังการเปิดตัวในงาน COP28 เครือข่าย FMC for Food ได้เติบโตจนมีพันธมิตรมากกว่า 50 ราย ครอบคลุมสินค้า 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ เนื้อวัว นม ข้าว และพืชไร่ (รวมถึงข้าวสาลี ถั่วเหลือง และข้าวโพด) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างผลร่วมด้านอื่น ๆ เช่น เพิ่มผลผลิต ประหยัดน้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีประสบการณ์จากโครงการ Thai Rice NAMA ที่แสดงให้เห็นว่าการปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำสามารถสร้าง “ผลประโยชน์สามด้าน” ได้แก่ เพิ่มรายได้เกษตรกร ประหยัดน้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการ เช่น การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ซึ่งเข้าถึงเกษตรกรกว่า 25,000 รายใน 6 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งทำให้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระยะใหม่ด้วยโครงการ “Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice Farming Project” มูลค่า 118 ล้านยูโร
โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุน Green Climate Fund, กระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี , และพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำ เช่น Mars, Olam Agri, PepsiCo และ Ebro Foods เพื่อสนับสนุนเกษตรกรกว่า 250,000 รายให้ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะด้านภูมิอากาศ อีกด้วย
“ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเติบโตได้ในเศรษฐกิจสีเขียว ขอให้การประชุมในวันนี้เป็นสัญลักษณ์ของเจตจำนงร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป” รมว.เกษตรฯ กล่าว