สมาพันธ์สวนยางฯ สุดทน ทำจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุด ถาม รมว.เกษตรฯ ทำไมอนุญาตนำเข้ายางข้นสูตรเฉพาะสูงผิดปกติ

                                                                                                ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์

สมาพันธ์สวนยางฯ สุดทน ทำจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุด ถามรัฐมนตรีเกษตรฯ ทำไมอนุญาตนำเข้ายางข้นสูตรเฉพาะ ปี 67 สูงผิดปกติ อ้างเป็น “น้ำยางข้นสูตรเฉพาะที่ทางผู้ผลิตกำหนด” ถามชัดๆปี 68 จะนำเข้าอีกหรือไม่ หวั่นโรงงานน้ำยางข้นในประเทศเจ๊ง และอาจส่งผลกระทบชาวสวนยางที่อาจให้ราคายางพาราตกอีก

วันที่ 22  พฤษภาคม 2568 ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ตัดสินใจส่งจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุดถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง  ข้อกังวลเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้ายางธรรมชาติ น้ำยางข้นสูตรเฉพาะ จากต่างประเทศ ของผู้ประกอบการไทย หลังจากพบว่าในปี 2567 มีการนำเข้าน้ำยางข้นจำนวนสูงมากผิดปกติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายไม่อนุญาตให้นำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศทุกชนิดและมีการดำเนินการอย่างเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบการนำเข้ายางพาราบริเวณชายแดน แต่กรมวิชาการเกษตรมีการนำเข้าแทโดยอ้างว่า นำเข้า “น้ำยางข้นสูตรเฉพาะที่ทางผู้ผลิตกำหนด” (อ่านรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุดด้านล่าง)

 

 

ที่ มท. 24/2568

วันที่ 22 พฤษภาคม 2568

 

เรื่อง:       ข้อกังวลเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้ายางธรรมชาติและน้ำยางข้นสูตรเฉพาะจากต่างประเทศของ               ผู้ประกอบการไทย และนโยบายยางพาราของรัฐบาล

เรียน:      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)

สิ่งที่ส่งมาด้วย: 

* หนังสือสถิติยาง ปี 2567 

* แผ่นที่ 1 ตารางที่ 1: ผลผลิตยางธรรมชาติ              

* แผ่นที่ 2 ตารางที่ 12: ปริมาณการนำเข้ายางแยกประเภทตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542

ตามที่คณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ซึ่งมีวาระเร่งด่วนพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศ (ตามหนังสือที่แนบมา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2567 ที่มีการนำเข้าน้ำยางข้นในปริมาณสูงมากผิดปกติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายไม่อนุญาตให้นำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศทุกชนิด และมีการดำเนินการอย่างเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาคมฯ เห็นด้วยและสนับสนุนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการสมาคมฯ พิจารณารายละเอียดข้อมูลจาก “หนังสือสถิติยางประจำปี 2567 ฉบับที่ 2 พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542” ของกองการยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่งมาพร้อมนี้ โดยเฉพาะจากแผ่นที่ 1 ตารางที่ 1 (ผลผลิตยางธรรมชาติ) และแผ่นที่ 2 ตารางที่ 12 (ปริมาณการนำเข้ายางแยกประเภทตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542) กลับพบว่า กรมวิชาการเกษตรได้อนุญาตให้นำเข้าน้ำยางข้นจากต่างประเทศในปริมาณมากถึง 5,615 ตัน (เนื้อยางแห้ง) หรือประมาณ 9,358 ตันเศษ (น้ำยางข้น 60%) ต่อปี

การดำเนินการเช่นนี้ถือว่า ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสกัดกั้นยางเถื่อน แต่ในทางกลับกันกลับอนุญาตให้นำเข้าน้ำยางข้นจำนวนมหาศาล ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็น “น้ำยางข้นสูตรเฉพาะที่ทางผู้ผลิตกำหนด” ทั้งที่ประเทศไทยมีนักวิจัยและนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะพัฒนาสูตรพิเศษต่าง ๆ ได้เอง ซึ่งไม่เกินขีดความสามารถของกรมวิชาการเกษตร สมาคมฯ จึงคิดว่านี่อาจเป็นเพียงข้ออ้างของผู้ประกอบการเหล่านี้เพื่อนำเข้ายางข้นจากต่างประเทศที่ราคาถูกกว่าในประเทศไทย และเป็นเพียงน้ำยางข้นทั่วไปที่ผู้ประกอบการไทยผลิตอยู่แล้ว

การที่กรมวิชาการเกษตรยังคงอนุญาตให้นำเข้าน้ำยางข้นจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำยางข้นที่ซื้อภายในประเทศ กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ราคายางพาราในประเทศ และทำให้เกษตรกรชาวสวนยางต้องแบกรับภาระการขายยางที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอยู่ขณะนี้ แต่กลับให้มีการนำเข้ายางจากต่างประเทศมาอย่างถูกกฎหมายและได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการยางไทยไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะต้องซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางในราคาสูงกว่าตามนโยบายของรัฐบาล และอาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยางไทยในที่สุด และจะกระทบเป็นลูกโซ่อย่างรุนแรงต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในอนาคตอย่างแน่นอน

อนึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และ มาตรา 11 บัญญัติให้มีคณะกรรมการควบคุมยางคณะหนึ่ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นเลขานุการ มาตรา 26 ยังระบุว่า ผู้ใดจะนำยางเข้ามาในหรือส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักรต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้นำยางเข้าหรือผู้ส่งยางออกจากผู้อนุญาต ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ควรให้ความเอาใจใส่ให้มากกว่านี้

ทางสมาคมฯ ไม่มั่นใจว่าในรอบครึ่งปีที่ผ่านมานี้จะมีตัวเลขการนำเข้าน้ำยางข้นจากต่างประเทศมากขึ้นมหาศาลเท่าไร เพราะจากที่ได้สอบถามผู้ประกอบการน้ำยางข้น ทราบว่าขายน้ำยางข้นได้ยากมาก หลายโรงงานเริ่มปิดตัวเองหรือชะลอการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว

ดังนั้น ทางคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจึงขอเรียนสอบถามถึง นโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการบริหารจัดการและควบคุมการนำเข้ายางพารา เพื่อให้สมาคมฯ สามารถนำคำตอบไปชี้แจงต่อสมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและให้คำตอบโดยด่วน

 

ขอแสดงความนับถือ

(ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์)

                                                                             นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

                                                                             โทร. 081-330-1945