สมาชิกวุฒิสภา ถกปม “ห้วยคลิตี้” 27 ปีสารตะกั่วยังหลอน! หลังฟื้นฟูสูญงบฯไป 588 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียหายซ้ำซาก เตรียมลุยศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง หาทางแก้ปัญหามลพิษเรื้อรังต่อไป
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 6 พ.ค.68 ได้เป็นประธานการประชุมพิจารณาศึกษาแนวทางการฟื้นฟูลำน้ำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยเชิญผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษเข้าชี้แจงรายละเอียดความเป็นมาของปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ , การฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครอง
ชีวะภาพ ชีวะธรรม
ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษได้สรุปสถานการณ์ล่าสุดของลำห้วยคลตี้ว่า ตั้งแต่ปี 2541 ที่พบสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ที่มาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่จนถึงวันนี้ 27 ปี กำลังเข้าสู่การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะที่ 2 หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ดูดตะกอนในลำห้วยบ้านคลิตี้ที่บนคลิตี้ล่าง และขนส่งถุงบรรจุตะกอนไปฝังกลบ รวม 37,723 ตัน ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนปิดคลุมหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย,การฝังกลบไม่ให้สารพิษรั่วไหลและฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองแร่ใน 5 ชุมชนในอ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยหลังจากการฟื้นฟูในปี 2566 พบสารตะกั่วในเลือดชาวบ้านคลิตี้บนและคิลตี้ล่างมีแนวโน้มลดลง
ส่วนความคืบหน้าในการฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทที่ทำเหมืองแร่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดีเพื่อนำทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดมาชดใช้คืนแก่รัฐ เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างทำโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รวมเป็นเงิน 528,671,142.66 บาท แต่สำนักงานคดีแรงงานภาค 7 แจ้งว่า บริษัทถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว หากฟ้องร้องคดีต่อไปจะไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ จึงเห็นควรให้ยุติการดำเนินคดี ทุกวันนี้รัฐเสียหายเกือบ 600 ล้าน เจ้าของโรงไม่รับผิดชอบ
ด้าน นางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภาสภา จ.พังงา ในฐานนะกมธ.สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีห้วยคลิตี้ไม่ใช่เป็นการสูญเสียแค่ระบบนิเวศอย่างเดียว แต่เป็นการสูญเสียต่อร่างกาย เพราะหลายคนมีอาการเจ็บป่วย บางรายตาบอดสนิท ในกรณีที่ลูกเกิดมาใหม่ก็มีความผิดปกติทางร่างกาย
“เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนอย่างเพียงพอเป็นเหตุให้ประชาชนฟ้องกรมควบคุมมลพิษในปี 2558 เพราะไม่เข้าระงับการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ได้ทันท่วงทีจนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมนุษย์ ถึงชนะคดีความก็ไม่ได้ทำทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม เพราะคนที่พิการไปแล้วก็คืนเป็นปกติไม่ได้บทเรียนของห้วยคลิตี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของการทำงานที่ไม่สำเร็จตามเป้าหมายทั้งเรื่องของไม่ควบคุมตั้งแต่แรก กระทั่งให้ปล่อยสารพิษลงไปในแหล่งน้ำ” นางสาวรัชนีกร กล่าว
นายชีวะภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิสภาจะใช้ลำห้วยคลิตี้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการจัดสัมมนาสร้างผลงานเชิงคุณภาพเพื่อแก้แัญหาดังกล่าว เนื่องเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่บังคับใช้กฎหมายแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดการกับกากของเสียได้ บางหน่วยงานมีข้อบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งกรรมาธิการจะช่วยผลักดันและรวบรวมปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย ภายในงานเสวนาเร็วๆนี้.