กรมประมง เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำรอบใหม่ กระจายในพื้นที่ 14 จังหวัด เริ่มเลย 8 พ.ค.นี้

กรมประมง เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำรอบใหม่ กระจายในพื้นที่ 14 จังหวัด งบประมาณ จำนวน 97,817,400 บาท วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า ผลักดันให้รัฐบาลจัดงบประมาณ งบกลางเร่งด่วน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณ จำนวน 97,817,400 บาท ให้แก่กรมประมง เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหา ภายใต้ 2 มาตรการหลัก 4 กิจกรรมย่อย มีรายละเอียดดังนี้

มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด จำนวน 92,004,056 บาท  กิจกรรม 1 รับซื้อปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดออกจากแหล่งน้ำทุกแห่ง ที่พบการแพร่ระบาด จำนวน 61,102,000 บาม,กิจกรรม 2 สนับสนุนปัจจัยในการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงของเกษตรกร จำนวน 15,275,400 บาท,กิจกรรม 3 จัดกิจกรรมเพื่อเกิดความร่วมมือในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำกับชุมชน จำนวน 15,626,656 บาท ส่วนมาตรการที่ 2 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ จำนวน 5,813,344 บาท คือกิจกรรม 4 การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ จำนวน 5,813,344 บาท

สำหรับการรับซื้อในครั้งนี้ กรมประมงขอเชิญชวนเกษตรกร ชาวประมง ประชาชนในทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำด้วยการจับออกและการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่แพร่ระบาด อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยโครงการฯ จะเริ่มการรับซื้อตั้งแต่ วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

แฟ้มภาพ

โดยรัฐฯ จะใช้งบประมาณในการรับซื้อ 20 บาท/กิโลกรัม โดยแบ่งเป็น ราคารับซื้อปลาหมอคางดำ 15 บาท/กิโลกรัม (จ่ายให้กับชาวประมงหรือผู้จับปลา มาขาย) และราคาค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการรวบรวม 5 บาท/กิโลกรัม (จ่ายให้กับผู้รวบรวมหรือแพปลาที่เข้าร่วมโครงการฯ) และในครั้งนี้มีการกระจายจุดรับซื้อปลาหมอคางดำรวม 14 จังหวัด 40 จุดรับซื้อ

นายบัญชากล่าวอีกว่า การดำเนินการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ ตามวาระแห่งชาติของกรมประมงนั้น ได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม และดำเนินการอยู่ตลอดในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน กำจัด นำไปใช้ประโยชน์ เยียวยาผลกระทบ ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศ และคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการแก้ไขปัญหาของกรมประมง