ชีวะภาพ ชีวะธรรม
คณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมลพิษและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา .จี้รัฐเร่งแก้สารหนูปนลำน้ำกก หวั่นซ้ำรอยห้วยคลิตี้ หลังจากที่ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ระบุข้อมูลจากการอ่านค่า-วิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียม พบต้นน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกก มีโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมี เผยเห็นได้ชัดจากการตรวจพบสารหนู สารตะกั่วในน้ำ
นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมลพิษและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักในแม่น้ำกก โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ , กรมควบคุมมลพิษ , กรมทรัพยากรน้ำ , กรมชลประทาน , รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง
ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมลพิษและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ข้อมูลว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งหมด 23 บริษัทตั้งอยู่บนกลางลำน้ำและภูเขาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นภูเขาทองคำของรัฐฉาน ซึ่งอาจไม่เคยผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งรัฐบาลไทยอาจต้องใช้วิธีการเจรจาเพื่อขอความร่วมมือยุติกิจการเหมืองแร่ชั่วคราว
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา จ.สิงห์บุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า จากการอ่านค่า-วิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียม จะเห็นว่าต้นน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกก พบโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีในลำน้ำกก เห็นได้ชัดจากการตรวจพบสารหนู สารตะกั่วในน้ำ
แต่สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องชี้ชัดให้ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้มาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และสามารถรายงานคุณภาพน้ำ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในแต่ละพื้นที่ได้ ทุกชั่วโมงและทุกวัน จึงจะนำไปสู่การเจรจาขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยสอดส่องและปิดกิจการเหมืองแร่ที่ไร้มาตรฐานก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เพื่อคืนความปลอดภัยให้แม่น้ำกกกลับมาสะอาดและงดงามดังเดิม
“รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้าใจและบอกความจริงให้ประชาชนรับทราบว่า แม่น้ำกกปลอดภัยจริงหรือไม่ เพื่อยุติความตื่นตระหนกหวาดกลัว หรือหากพบสารเคมีปนเปื้อน จนเกินค่ามาตรฐานเข้าข่ายขั้นวิกฤต จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตน้ำประปา ซึ่งทางคณะกรรมาธิการมีความห่วงใยว่าเส้นทางไหลของน้ำกว่า 122 กิโลเมตร จะผ่านหลายชุมชนของจังหวัดเชียงราย จึงจะต้องมีแผนในการเฝ้าระวังและชี้แจงทำความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ”
สำหรับคณะกมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ชุดนี้ ยืนยันจะติดตามการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการตรวจวัดคุณภาพน้ำและการจัดเก็บตัวอย่างน้ำ ที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดถึงคุณภาพน้ำของลำน้ำกก เพื่อให้มั่นใจว่าลำน้ำกก ปลอดภัย สามารถอุปโภคและใช้สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวได้
ขณะเดียวกันหากคุณภาพน้ำไม่ปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องบอกความจริงให้ประชาชนเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง และหาทางช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับเหตุการณ์สารตะกั่วในลำน้ำคลิตี้ที่กาญจนบุรี ซึ่งพบสารตะกั่วปนเปื้อนสูงยาวนานถึง 30 ปี.