“ชีวะภาพ ชีวะธรรม” นำทีมคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภา ลงพื้นที่น่าน รับฟังปัญหาไฟป่า PM2.5 พร้อมเล็งดัน “ใช้มาก จ่ายมาก” เพื่อสร้างความเป็นธรรม และสร้างสังคมที่เคารพและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ และ ดร.จำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการ, นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่าน พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ณ ศาลากลางจังหวัดน่าน โดยมีนายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายวสันต์ จารุศังข์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาแพร่, ตัวแทนสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2, พลังงานจังหวัดน่าน ฯลฯ เข้าร่วมรายงานสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯร่วมสามชั่วโมง
นายชีวะภาพ กล่าวว่า ผลจากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และน่าน ว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำไปหารือในรัฐสภาต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังตระหนักถึงคุณค่าของจังหวัดน่านในฐานะที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนในภาคเหนือและภาคกลาง ทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์นานาชนิด ดังนั้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศของประเทศไทย
“คณะกรรมาธิการฯ ได้เตรียมข้อมูลรอบด้านเพื่อขอเป็นกรรมาธิการหลักในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อรัฐสภาในเร็วๆ นี้ จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของคณะกรรมาธิการฯ และอนุกรรมาธิการอีกสามคณะ ทำให้มีความเข้าใจปัญหาอย่างครอบคลุมและมั่นใจว่าจะสามารถเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ได้ในทุกมิติ” นายชีวะภาพ กล่าว
ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังสนใจและต้องการผลักดันแนวคิด “ใช้มาก ต้องจ่ายมาก” เพราะเชื่อว่าจะสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียม ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบในการใช้อย่างเหมาะสม เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัดและเป็นของคนทั้งประเทศ การจัดเก็บค่าใช้ทรัพยากรตามปริมาณการใช้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทุกภาคส่วน เมื่อมีต้นทุนตามการใช้จริง ผู้ใช้จะคิดมากขึ้นก่อนใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง นอกจากนี้ รัฐสามารถนำรายได้ไปฟื้นฟูทรัพยากรที่เสียหาย สนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด หรือช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการหมุนเวียนผลประโยชน์สู่สังคมอย่างยั่งยืน การปลูกฝังแนวคิดนี้ในนโยบายสาธารณะจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสู่สังคมที่เคารพและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีไปยังคนรุ่นต่อไป