กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ชื่นชมความร่วมมือทุกภาคส่วนในลำปาง โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ร่วมกับภาครัฐแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM 2.5 อย่างจริงจัง พร้อมแนะสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะเป็นความรับผิดชอบของทุกคน
คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ และ ดร.จำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13, สาธารณสุขจังหวัดลำปาง, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2, พลังงานจังหวัดลำปาง, มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง, มูลนิธิปชาอุ่นใจ และสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง ได้เข้าร่วมรายงานสถานการณ์และแนวทางการดำเนินงานต่อคณะกรรมาธิการฯ
คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างละเอียดกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมุ่งเน้นที่จะแสวงหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติมากจนเกินไป
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า การได้ลงพื้นที่ในการรับฟังปัญหาและอุปสรรคของการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของลำปาง คณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่รวมตัวกันร่วมมือกับภาครัฐจัดการกับปัญหาไฟป่า ซึ่งถือเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 มีโครงการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจถึงปัญหาไฟป่าที่ทุกคนต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ซึ่งตอนนี้ก็มีเครือข่ายไปทั้งจังหวัดลำปางร่วมหนึ่งพันคน
“คณะกรรมาธิการฯ มองเห็นคุณค่าของการศึกษาและการเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติและผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง การให้ความรู้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้ข้อมูล แต่เป็น เครื่องมือ ที่จะช่วยสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ การปลูกฝังความเข้าใจและจิตสำนึกจะส่งผลในระยะยาว ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยได้เสนอแนะให้สร้างหลักสูตรให้ครอบคลุมในทุกวัย ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเลยยิ่งดี” ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าว