เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางฯสุดทน บุก ก.เกษตรฯยื่น 7 ข้อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ แฉนายนทุน ฉวยโอกาสกำแพงภาษีทรัมป์มากดราคาจนตกฮวบ

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย บุกกระทรวงเกษตรฯ ยื่น 7 ข้อให้เร่งช่วยเหลือชาวสวนยางรับผลกระทบราคาตกต่ำ  แฉมีผู้ประกอบการบางกลุ่มจงใจ ฉวยโอกาสจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา มากดราคาการซื้อ-ขายยางพาราจนราคาต่ำลงอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เป็นธรรม

วันที่ 18 เมษายน 2568 ได้มีตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เดินทางไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับราคายางพาราต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยมีนางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับแทน และมีนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 123

จากนั้นได้มีการเพื่อหารือการแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยางจากการที่มีผู้ประกอบการบางกลุ่มจงใจใช้โอกาสจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีคู่ค้าของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (นายดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์) มากดราคาการซื้อ-ขายยางพาราจนราคาต่ำลงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบขาดทุนจากการซื้อ-ขายที่ไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อตลาดยางพาราในภาพรวมทั้งประเทศ

ทางสมาคมผู้ผลิตยางแผ่นรมควันภาคใต้จึงเป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางยื่นหนังสือต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางตามข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1) กำหนดราคาซื้อ-ขายยางพาราให้มีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม 2) กำหนดให้ผู้รับซื้อยางพาราแจ้งปริมาณกักเก็บยางพารา รวมถึงแผนการผลิต นำเข้า-ส่งออก การจำหน่ายต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมเสถียรภาพทางราคา 3) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันพฤติการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความผันผวนของราคายางพารา 4) ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำมากกว่าปกติ ซึ่งอาจมีจำหน่ายไม่ตรงกับต้นทุน มีการจัดทำบัญชีที่ไม่ถูกต้อง อันมีเหตุให้เชื่อว่าอาจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

5) กำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า หรือสวมสิทธิเป็นยางพาราในราชอาณาจักรไทย 6) ปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 7) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการสินเชื่อเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางผ่านคณะกรรมการยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อขยายเวลาชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

ทั้งนี้ นางสาวอนงค์นาถ ได้ให้ความมั่นใจกับเกษตรกรชาวสวนยาง ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อเรียกร้องไปพิจารณาดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป