กลุ่มคนเลี้ยงหมู วอนรัฐอย่ายัดเยียดคนไทยกินเครื่องในหมูสหรัฐฯแลกภาษีทรัมป์ ชี้เป็นแหล่งสะสมสารเนื้อแดง อันตรายต่อสุขภาพ

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู วอนรัฐอย่ายัดเยียดคนไทยกินเครื่องหมูสหรัฐฯ เพื่อแลกกับเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 37% ของทรัมป์ ชี้เป็นแหล่งสะสมของเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง อันตรายต่อสุขภาพ จี้ รมว.คลัง – หอการค้าฯ ช่วยป้องอาชีพก่อนล่มสลาย

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสกล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกว่า 1,000 คน ยกทัพไปกระทรวงการคลัง-หอการค้าไทยฯ เพื่อยื่นหนังสือขอความเห็นใจ พร้อมนำหัวหมู 37 หัว บนบานกู้วิกฤต หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอาเมริกา ขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทย 37% เพื่อลดการขาดดุลการค้า และรัฐบาลไทยเตรียมเจรจาเปิดทางนำเข้าเครื่องในหมูสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทให้ล่มสลาย  รวมถึงกระทบสุขภาพคนไทย เสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ  พร้อมกันนี้ได้เข้าพบ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงขอบคุณที่จุดยืนอยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย

ทั้งนี้จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ระบุว่าอนุมัติให้มีการนำเข้าเครื่องในสุกรจากสหรัฐฯนั้น สร้างความกังวลใจแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเครื่องในหมูเป็นแหล่งสะลมสารเร่งเนื้อแดงที่สหรัฐฯใช้กันอย่างแพร่หลาย หากนำเข้าเครื่องในมาไม่ว่าจะใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงหรืออาหารมนุษย์ ก็ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและต่อประชาชนคนไทยทั้งสิ้น เนื่องจากมีผลต่อระบบประสาทและหัวใจ ขณะที่คนไทยกินเครื่องในหมูในปริมาณมากเทียบเท่าเนื้อหมู จึงไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพคนไทย

นายสิทธิพันธ์ กล่าวอีกว่า การนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบมหาศาลต่อเกษตรกรและอีกหลายภาคส่วน เป็นเหตุผลที่กลุ่มเกษตรกรรวมตัวมาเพื่อขอความเห็นใจจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ปัญหาดุลการค้าสหรัฐฯ ให้ช่วยปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย ให้สามารถยืนหยัดผลิตเนื้อหมูให้คนไทยบริโภคได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน รักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศต่อไป ทั้งนี้ อาชีพผู้เลี้ยงหมูเป็นอาชีพดั้งเดิมอยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน แม้จะล้มลุกคลุกคลานเผชิญปัญหามากมายมาโดยตลอด แต่กลุ่มเกษตรกรและภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็มุ่งมั่นตั้งใจยกระดับ พัฒนา ปรับปรุง เพื่อผลิตเนื้อหมูให้คนไทยบริโภคด้วยคุณภาพหมูที่สะอาด ปลอดภัย เป็นความภูมิใจของคนเลี้ยงหมูทุกคน

การยื่นหนังสือในวันนี้มีข้อมูลให้ คณะเจรจาได้นำไปพิจารณา ดังนี้

1. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สนับสนุนการนำเข้าพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ขาดแคลน หรือผลิตได้ไม่เพียงพอในบ้านเรา เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถเพิ่มดุลการค้าให้สหรัฐฯได้ถึงปีละ 84,000 ล้านบาท น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ได้ไม่น้อย ทั้งนี้ จะเป็นการนำเข้าในส่วนที่ประเทศไทยมีไม่เพียงพอ ซึ่งจะไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ในประเทศไทย นับว่าคุ้มค่ากว่าการนำอุตสาหกรรมสุกรและห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ไปแลกอย่างชัดเจน

2.ปัจจุบันปริมาณผลผลิตเนื้อหมูของไทย อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคของประชาชน หากปล่อยให้มีเนื้อหมูสหรัฐฯ เข้ามาปริมาณซัพพลายจะเกินกว่าดีมานด์ ส่งผลกระทบไปตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังเช่นสถานการณ์หมูเถื่อนที่เกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงปี 2564 ที่ทำให้ผู้เลี้ยงต้องสูญเสียอาชีพไปมากมาย

3. สินค้าทั้งชิ้นส่วนและเครื่องในสุกรของสหรัฐ ผลิตจากประเทศที่มีกฎหมายไม่ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง ในขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห้ามใช้ในการเลี้ยงและกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ห้ามปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สุกรทุกชนิดแม้จะมีการอ้างว่ามีการเลี้ยงโดยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในสหรัฐ  ในขณะที่กฎหมายของสหรัฐไม่ห้ามการใช้  จะเป็นปัญหาเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศยุโรปไม่รับสินค้าไก่เนื้อจากประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งไก่เนื้อไปยังยุโรปและออกกฎหมายในลักษณะที่ห้ามใช้สารต้องห้ามในลักษณะเดียวกับกลุ่มยุโรปเช่นกัน  ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน  หากผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์หรือเครื่องในที่มีสารตกค้างดังกล่าว จะมีผล เป็นความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และแม้จะนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มสุนัขและแมว ก็ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง และเกิดข้อจำกัดในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปตามมา