นัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
สภาเกษตรกรแห่งชาติเรื่องออกแถลงการณ์ถึง ผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาต่อภาคเกษตรกรรมไทย จากมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตรา 37% ที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้กับสินค้าไทย ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศระงับการเก็บภาษีต่างตอบแทนสำหรับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย เป็นเวลา 90 วันก็ตาม ระบุจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกพบว่าสินค้าเกษตรที่เป็นความภาคภูมิใจของไทยหลายรายการกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อ
วันที่ 10 เมษายน 2568 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ออกออกแถลงการณ์ถึงผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาต่อภาคเกษตรกรรมไทยพร้อมข้อเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อโดยระบุว่า
“สภาเกษตรกรแห่งชาติมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรไทย จากมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตรา 37% ที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้กับสินค้าไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศระงับการเก็บภาษีต่างตอบแทนสำหรับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย เป็นเวลา 90 วัน นั้น
มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เกษตรกรไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศจะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของสภาเกษตรกรแห่งชาติ พบว่าสินค้าเกษตรที่เป็นความภาคภูมิใจของไทยหลายรายการกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของเรา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังสหรัฐอเมริกา ภาษีที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เปิดช่องให้คู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของเรา
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะกุ้งแปรรูป ที่เป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงของไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากข้อกังวลของสหรัฐฯ ในประเด็นมาตรฐานการผลิต ขณะที่ผลไม้แปรรูปของไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลง FTA กับสหรัฐฯ
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของไทย ก็เสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่แข่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเรามาก
ผลกระทบจากมาตรการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้น แต่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงโรงงานแปรรูป และในที่สุดจะกระทบโดยตรงต่อพี่น้องเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ ทั้งในรูปของราคารับซื้อที่อาจลดลงและการจ้างงานที่อาจหดตัวลง
สภาเกษตรกรแห่งชาติในฐานะตัวแทนของพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ขอให้รัฐบาลดำเนินการ ดังนี้
ประการแรก การปกป้องเกษตรกร ต้องเป็นหัวใจหลักในทุกการเจรจากับสหรัฐอเมริกา เราขอเน้นย้ำว่า การเจรจาใดๆ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง และรัฐบาลต้องตระหนักถึงผลกระทบในการมีข้อเสนอที่จะใช้ภาคเกษตรเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้า ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐอเมริกา ต้องควบคุมปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่กระทบผลผลิตและราคาในประเทศไทย
ประการที่สอง เราต้องการมาตรการเยียวยาที่รวดเร็วและตรงจุด สภาเกษตรกรแห่งชาติ ขอให้มีการจัดสรรความช่วยเหลือโดยตรงแก่เกษตรกร ไม่ใช่เพียงเงินกู้สำหรับผู้ส่งออกเท่านั้น พร้อมทั้งจัดตั้งหลักประกันความเสี่ยงราคาพืชผลเกษตร และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม
ประการที่สาม เราต้องการยุทธศาสตร์การปรับตัวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยสร้างระบบแปรรูปสินค้าเกษตรที่ทันสมัยที่เกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เสริมสร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้เข้มแข็ง และพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดในกลุ่มประเทศ RCEP
ประการที่สี่ เราต้องการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการเจรจาและแผนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา จัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนเกษตรกรร่วมอยู่ด้วย และสร้างกลไกรับฟังเสียงของเกษตรกรก่อนการตัดสินใจในนโยบายสำคัญ
สภาเกษตรกรแห่งชาติขอย้ำว่า ภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรเป็นรากฐานของความมั่นคงของชาติ รัฐบาลต้องไม่ยอมสละผลประโยชน์ของเกษตรกรเพื่อแลกกับความก้าวหน้าด้านอื่น และต้องมีมาตรการดูแลที่เหมาะสมกับความทุ่มเทของเกษตรกรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศมาโดยตลอด
เราจะติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยและฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”