“ประเสริฐ” สั่งตรวจความมั่นคงแข็งแรงเขื่อน-อาคารบังคับน้ำทุกแห่งรับมือฤดูฝน 

“ประเสริฐ” เรียกประชุม กนช. กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2568 ป้องกันผลกระทบจากอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ตามข้อสั่งการนายกฯ พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) แผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ มุ่งแก้ไขปัญหาน้ำในทุกมิติตามนโยบายรัฐบาล
วันที่ 9 เมษายน 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
นายประเสริฐ กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้มีการเตรียมมาตรการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สำหรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในวันนี้จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการกันทำงานเชิงรุกภายใต้ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และเน้นย้ำให้มีการติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ และเขื่อนทุกแห่งอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือสถานการณ์ได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย แผนฯ ระยะสั้น (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568) และระยะยาว (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2571) โดยให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามแผนระยะสั้น ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) ปรับปรุงความถูกต้องและความแม่นยำของระบบตรวจและการคาดการณ์ (2) บูรณาการข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน (3) เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ และ (4) พัฒนาแผนประชาสัมพันธ์และการแจ้งเตือนภัย เพื่อให้ทันฤดูฝนที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้
นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ด้านทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤต โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยในสถานการณ์วิกฤตด้านน้ำให้ทันสถานการณ์และสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนได้มากที่สุด ในขณะที่การรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ยังคงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง หากพบพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้รายงาน สทนช. เพื่อบูรณาการหน่วยงานเข้าแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว