ทุกภาคส่วน-ซีพีเอฟ ร่วมแรงจับปลาหมอคางดำ เห็นผลเร็วทันใจปริมาณลดลงแล้ว 80%

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                        ปรีชา ศิริแสงอารำพี

ภาครัฐ ภาคเอกชน โรงงานปลาป่นและเกษตรกร ร่วมสนับสนุนกรมประมงในโครงการรับซื้อปลาป่นจากปลาหมอคางดำ หนุนการจับปลา ชี้เห็นผลเร็วและดีต่อการลดประชากรปลาได้มากถึง 80% และยังคงเดินหน้าไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่น ศิริแสงอารำพี ในจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากการติดตามและเดินทางไปดูแหล่งรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงพูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านที่นำปลามาขาย พบว่า ตั้งแต่วันแรกที่กรมประมงเริ่มโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปทำปลาป่น พบว่า ปริมาณปลาลดลง 80% โดยโรงงานใช้ปลาหมอคางดำมาผลิตปลาป่นต่อเนื่อง จนถึงวันนี้รับซื้อแล้วมากกว่า 600,000 กิโลกรัม และโครงการนี้เป็นการช่วยเหลือชาวประมงตามนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

ช่วง 2 วันที่ผ่านมา โรงงานฯ รับซื้อปลาหมอคางดำมาทำปลาป่นเพิ่มขึ้นจากวันละ 5,000-6,000 กิโลกกรัม เป็น 10,000 กิโลกรัม สืบเนื่องจากการรณรงค์โครงการจับและรับซื้อปลาของรัฐบาล  โดยปลาป่นจากปลาหมอคางดำของโรงงานมี ลริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัก(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นผู้รับซื้อทั้งหมดตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นมา ซึ่ง ซีพีเอฟ จะเพิ่มการรับซื้อปลาหมอคางดำจากแหล่งที่มีการระบาดจำนวน 2,000,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 บาท และจะเริ่มซื้อพร้อมกับภาครัฐในวันที่ 1 สิงหาคม 2567

“ปริมาณปลาที่ลดลงดังกล่าวเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่ายที่ตั้งใจรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการจับปลาและนำปลาไปใช้ประโยชน์สูงสุด นับเป็นข่าวดีที่ชาวประมงพื้นบ้านแจ้งว่าปริมาณปลาหมอคางดำลดลงมากถึง 80% และมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น นับเป็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้เรือประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้น้อยลง” นายปรีชา กล่าว

นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้เป็นการทำงานแบบบูรณาการอย่างรอบคอบระหว่างภาครัฐ เกษตรกร ชุมชน ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ซึ่งมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้มีการจับปลามากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด เพื่อรองรับปลาหมอคางดำที่จับได้อย่างทั่วถึง

ภาครัฐยังมีการตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ ว่า ปลาที่รับซื้อมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ใช่มาจากการเลี้ยง โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องขึ้นทะเบียนกับประมงจังหวัดทั้งเกษตรกรบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและแพปลาที่จะรับซื้อต่อจากเกษตรกร เพื่อตรวจสอบรับรองปลาว่ามาจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำจริง ขณะที่โรงงานปลาป่นจะรับซื้อปลาเฉพาะปลาจากแพปลาที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงเท่านั้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมายทั้งโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเลี้ยงปลามาจำหน่ายในโครงการ

“ขณะนี้ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ลดลงจำนวนมากเหลือแต่ปลาขนาดเล็ก ตัดวงจรวัยเจริญพันธุ์ของปลาได้มาก และจะช่วยให้การปล่อยปลาผู้ล่าตามแนวทางของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพสูง เชื่อว่าการจับปลาและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแบบนี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวเร่งจับปลามากขึ้นและส่งผลให้ประชากรปลาหมอคางดำลดลงอย่างรวดเร็ว” นายปรีชา กล่าวว่า

นอกจากนี้  รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำมากขึ้น เพื่อบริโภคในครัวเรือนและส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนนำไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์เมนูปลาหมอคางดำให้เป็นเมนูท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด จะเป็นการสร้างการตระหนักรู้ให้กับสังคมและผู้บริโภคให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากปลาชนิดนี้ได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ โรงงานมีแผนจะร่วมมือกับร้านอาหารสร้างสรรค์เมนูปลาหมอคางดำสำหรับครอบครัว เพื่อทำสูตรอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนและชุมชนนำไปทำเมนูตามความนิยม ให้มีการบริโภคปลาชนิดนี้เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งการนำไปต่อยอดสร้างเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวก็สามารถทำได้

นายปรีชา กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และการจับปลาทำได้ง่ายขึ้นจากการผ่อนผันกฎระเบียบการจับปลา และเป็นการกระตุ้นการจับปลา ซึ่งขณะนี้ทั้งคนไทย คนไทยอีสานและแรงงานพม่าแห่มาจับปลากันมาก ทำให้ปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ลดลงมาก./