อ.ต.ก. สำเร็จเจรจาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปเฉิงตูกว่าแสนตัน มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

อ.ต.ก. ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เจรจาส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ไปเฉิงตูทางรถไฟกว่า 100,000 ตัน มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ระหว่าง บริษัท SHENZHEN ZHONGCHENG FOOD IMPORT AND EXPORT ของจีนกับ และบริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด ของไทย พร้อมเล็งบุกเบิกตลาดใหม่ และขยายผลไปยังสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ ทั้ง ผัก ผลไม้ สินค้าประมง และสินค้าแช่เยือกแข็ง 

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า ระหว่างวันที่ 22 – 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร. (อ.ต.ก.) เดินทางไปยัง นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การนำของ ศร.ด.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนการค้าไทย เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการนำเข้า – ส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างไทย – จีน โดย ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ได้เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ณ โรงแรม NICCOLO CHENGDU เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผลการเจรจา ประเทศไทยจะดำเนินการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จำนวน 100,000 ตัน เป็นเงิน 52.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายข้าวหอมมะลิไทยล่วงหน้า ระหว่าง บริษัท SHENZHEN ZHONGCHENG FOOD IMPORT AND EXPORT และบริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด และในส่วนของการจัดส่งข้าวหอมมะลิจำนวน 1 แสนตัน ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น จะดำเนินการขนส่งทางรางรถไฟ ตามที่ อ.ต.ก. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางราง กับบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) บริษัทในเครือ ปตท. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

การขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศภาคการเกษตรในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย อ.ต.ก.จะดำเนินการบุกเบิกตลาดใหม่ และขยายผลไปยังสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ อาทิ ผัก ผลไม้ไทย สินค้าประมง สินค้าแช่เยือกแข็ง เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ให้แก่พี่น้องเกษตรกร และพร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริม การซื้อขายผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าอื่น ๆ หรือสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือน รวมทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคเพื่อจำหน่าย สร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเกษตรไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศได้มากขึ้น