17 สมาคมปศุสัตว์-สัตว์น้ำ ในนามสมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ร้องขอรัฐบาลเร่งออกประกาศนำเข้า “กากถั่วเหลือง” ก่อนเกิดความเสียหายหนัก ชี้จะเพิ่มต้นทุนการผลิตและกระทบห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบ หลังเรือขนวัตถุดิบกากถั่วเหลืองลอยลำในทะเล จ่อเข้าเทียบท่าไทย 3 มกราคม 2567 หากนำเข้าไม่ได้จะถูกค่าปรับอ่วม ลดขีดความสามารถทางการแข่งขันส่งออกเนื้อไก่-กุ้งของไทย และซ้ำเติมเกษตรกรคนเลี้ยงหมูที่บอบช้ำจากหมูเถื่อนมาตลอดปี ลั่นจะส่งบิลเก็บค่าเสียหายทั้งหมดที่รัฐบาล ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ปลาร่วมยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ หลายจังหวัด ตอกย้ำความเดือดร้อนหากวัตถุดิบอาหารกุ้งขาดแคลน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สมาพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นหนังสือฉบับที่ 6 ที่ยื่นถึงรัฐในประเด็นนี้ เพื่อขอเข้าพบอธิบายเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนขอร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกประกาศทันที เนื่องขากผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยมีเพียงปีละ 2-3 หมื่นตัน ซึ่งได้รับการปกป้องเกษตรกร โดยสมาพันธ์ฯ รับซื้อหมดทั้ง 100% แล้ว รวมถึงการรับซื้อจากโรงงานผลิตน้ำมันพืชด้วย
ดังนั้นจึงมองไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลจะดึงการต่ออายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองให้ล่าช้ากว่าทุกปี ซึ่งส่งผลเสียอย่างมาก จึงอยากวอนขอให้รัฐบาลนำวาระนี้เข้า ครม.ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของปี พร้อมขอให้มีมติต่ออายุทันทีเพื่อจำกัดความเสียหาย ขณะที่จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังตามมาอีกขั้นตอนหนึ่งอย่างรวดเร็ว
“ขอความกรุณารัฐบาลเร่งรัดออกประกาศดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เป็นไปเพื่อจำกัดความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการผลิตอาหารสัตว์ เพราะหากต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในการผลิต จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ และกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจทั้งระบบ รวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาท พร้อมระบุว่า หากล่าช้าจนเกิดความเสียหาย สมาพันธ์ฯ จะส่งใบเรียกเก็บค่าเสียหายไปยังรัฐบาล” นายพรศิลป์ กล่าว
ด้าน นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 3 มกราคม 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนมกราคม 67 จะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทัน ได้แก่ 1.) เรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาไทยจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ และมีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ 2.5 แสนบาท/ลำเรือ และเดือน มค. มีเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้านบาท/วัน นับไปทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะออกประกาศ
และ 2.) ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้า กรณี มค.67 มีรายการเข้ามาจำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจะสูงถึง 336 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่าในเดือน มค.รวม 10.08 ล้านบาท
ส่วน นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่ากระบวนการผลิตไก่เพื่อส่งออกมีต้นน้ำในด้านการนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตอาหารสัตว์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กากถั่วเหลือง” ซึ่งต้องนำเข้าปีละ 3 ล้านตัน และเป็นเรื่องปกติที่ต้องต่ออายุทุกๆ 3 ปี โดยประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2564-2566 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาโดยที่ประชุม ครม. ก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดปีนี้กลับเกิดความล่าช้าขึ้นมาก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกระทบขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไก่ไทยในตลาดโลก มูลค่าการส่งออกราว 1.5 แสนล้านบาทที่ตั้งเป้าไว้น่าจะเป็นไปได้ยาก
ขณะที่ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับความเดือดร้อนจากหมูเถื่อนมาหลายปี รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาโดยตลอด ขณะที่ตอนนี้ยังต้องกังวลกับสถานการณ์การนำเข้ากากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ที่เกิดความล่าช้าจากการออกประกาศนำเข้า และจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ซ้ำเติมความเดือดร้อนของคนเลี้ยงหมูอีกด้าน จึงอยากขอให้รัฐบาลนำวาระการต่ออายุประกาศ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ทันที เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมหาศาล
วันนี้ ( 25 ธันวาคม 2566) สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย โดย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์ฯ ยังนำคณะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำหลายสมาคม เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองโดยด่วน รวมถึง ตัวแทนเกษตรกรฯ ผู้เลี้ยงกุ้งและปลาในจังหวัดต่างๆ ก็เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นนี้ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดด้วย อาทิ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.ตราด จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ
นายบรรจง กล่าวว่า กุ้งไทยต้องใช้กากถั่วเหลืองในการผลิตอาหารกุ้ง ความล่าช้าจากภาครัฐในการต่ออายุนำเข้าเช่นนี้ ย่อมกระทบถึงต้นทุนการผลิตกุ้งไทยที่สูงอยู่แล้ว ให้สูงขึ้นไปอีก ซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกร เพราะจะเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งออกประกาศดังกล่าว ก่อนที่ความเสียหายของภาคปศุสัตว์และสัตว์น้ำทั้งหมดของประเทศไทยจะเกิดขึ้นจนยากที่จะเยียวยา
สอดคล้องกับ นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ที่กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า การขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าปลายน้ำมีราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลให้กุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก กระทบการสร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองปีละเกือบ 3 ล้านตันในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณปีละ 2-3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ที่ผ่านมาสินค้ากากถั่วเหลืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายอาหาร กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO กำหนดโควต้าผู้มีสิทธิ์นำเข้า 11 ราย นำเข้าได้โดยไม่จำกัดจำนวน มีอัตราภาษีร้อยละ 2 โดยพิจารณาคราวละ 3 ปี ซึ่งประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2564-2566 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายอาหาร จะยึดหลักบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธินำเข้า ให้การสนับสนุนรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด โดยในปี 2566 กำหนดราคารับซื้อกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 17.04 บาท/กก. คำนวนมาจากราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศที่กำหนดไว้ที่ 21.75 บาท/กก. ณ โรงงาน กทม. ซึ่งมี สำนักเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้กำหนดราคาประกัน โดยพิจารณาจากต้นทุนเกษตรบวกกำไรที่เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้มีหนังสือติดตามความคืบหน้าการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวไปแล้วหลายฉบับ โดยเริ่มต้นฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 และ ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เพราะเกรงจะซ้ำรอยกับเมื่อคราวปี 2561-2563 ที่ซึ่งครั้งนั้น มีการออกประกาศในวันที่ 11 มกราคม 2561 ล่าช้าไป 11 วัน แต่โชคดีที่ปีนั้นไม่มีการนำเข้ากากถั่วเหลืองในช่วงระหว่างวันที่ 1-11 มกราคม ทำให้ยังไม่เกิดความเสียหายจากการนำเข้าไม่ได้
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงจัดทำหนังสือเพื่อเร่งรัดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยมีหนังสือไปยัง นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งบรรจุเข้าวาระ ครม.วันที่ 19 ธันวาคม 2566 เพราะภายหลังจากผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าวาระ ครม. ทางสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตัจึงดสินใจทำหนังสือฉบับที่ 6 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ขอเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพื่อขออธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นตลอดจนผลกระทบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำเข้าทันการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของปี ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้
สำหรับสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบด้วย 1.สมาคมปศุสัตว์ไทย 2.สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 3.สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก 4.สมาคมกุ้งไทย 5.สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ 6.สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย 7.สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 8.สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ 9.สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 10.สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก 11.สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย 12.สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ 13.สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ 14.สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และ 15.สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย