กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาแอปฯ ” Smart4M” มาช่วยในการบริหารข้อมูลทางการเงิน สะดวกรวดเร็ว พร้อมผุด “Quick win” 4 โครงการเร่งด่วน เน้นล้อมคอกแก้ปัญหาการทุจริต -ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการบัญชี-ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการบัญชี “ธรรมนัส” ย้ำต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์และสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิก
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยกระดับผู้บริหารสหกรณ์ในยุคดิจิทัล ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร ว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ที่เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการสหกรณ์ เพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหาจุดอ่อนจากการควบคุมภายในและให้สมาชิกสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของตนเองและข้อมูลการดำเนินงานของสหกรณ์ สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันการทุจริต ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน Smart4M มาช่วยในการบริหารข้อมูลทางการเงินได้สะดวกรวดเร็ว
อีกทั้งสมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ และใช้เป็นช่องทางการตรวจสอบฐานะทางการเงินของสหกรณ์และของตนเองได้ตลอดเวลา นับเป็นการช่วยป้องปรามการทุจริตและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ จึงได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งสนับสนุนให้สหกรณ์นำแอปพลิเคชันดังกล่าว มาสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์และให้บริการสมาชิก เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
เป็นองค์กรที่มุ่งประโยชน์และเป็นที่พึ่งแก่สมาชิกได้อย่างแท้จริง
นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความยั่งยืนด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกรและระบบสหกรณ์ โดยเสริมสร้างระบบการเงินการบัญชีที่มีเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรนำไปใช้ปฏิบัติ สามารถใช้ข้อมูลทางการเงินในการวางแผนบริหารจัดการ มีการกำหนดเกณฑ์การควบคุมภายในที่ดี มีการควบคุมและดูแลการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกรมฯ ได้มีแผนงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Quick win 4 โครงการเร่งด่วน ดังนี้
1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริต เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเชิงรุก
และให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในส่วนกลาง ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (War room) สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1 – 10 (ระดับภาค) และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกจังหวัด เพื่อรับแจ้งและรับร้องเรียนปัญหาทุจริตด้านการเงินและการบัญชี ณ ที่ทำการและผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งแต่งตั้งทีมตรวจสอบพิเศษเพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำ และติดตามผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
2. ตรวจประเมินการควบคุมภายในเพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตด้านดิจิทัลในสหกรณ์ เป็นการป้องปรามปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งรัดตรวจประเมินสหกรณ์ภาคเกษตรที่ใช้โปรแกรมระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ 1,500 แห่งทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจประเมินประสิทธิภาพการควบคุมภายในด้านคอมพิวเตอร์ภายใต้มาตรการการควบคุมภายในที่ดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ๒๕๖๖ โดยเน้นย้ำประเมินตามมาตรการ 5 ด้านในการวิเคราะห์จุดอ่อน ได้แก่ การควบคุมทางด้านกายภาพ การควบคุมการเข้าถึงระบบงาน การควบคุมข้อมูลและฐานข้อมูล การควบคุม กำกับ และติดตามการปฏิบัติตามระเบียบและนโยบาย และการผลักดันสมาชิกให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของตนเองกับสหกรณ์ คาดว่าสหกรณ์จะได้รับประโยชน์จากผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน สร้างระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งจะสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
3.จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการบัญชี (CAD Financial and Accounting Advisory Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเงินและบัญชี รวมทั้งความรู้ในการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป โดยจัดตั้งศูนย์บริการทั่วประเทศทั้งในส่วนกลาง ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด 77 จังหวัด รวมทั้งมีหน่วยบริการพิเศษเคลื่อนที่ ให้ความรู้ด้านบัญชีไปยังชุมชนห่างไกล
4.บูรณาการสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Think & Do Together โดยบูรณาการความร่วมมือ 5 ฝ่ายของขบวนการสหกรณ์ ร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งให้สหกรณ์ มุ่งเน้นให้สหกรณ์ยกระดับการควบคุมภายในให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี โดยตั้งเป้าหมายอบรมให้ความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติในการควบคุมภายในการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชี และแนวทางการแก้ไขปัญหาแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 250 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายพักชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์ ผ่านการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ด้วยระบบสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนาความรู้และความสามารถในการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการพักชำระหนี้ และบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีและสินเชื่อ จำนวน ๑,๗๐๐ แห่ง รวมทั้งเตรียมขยายผลการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในโครงการต่าง ๆทั้งในด้านการพัฒนาหลักสูตรด้านการเงินและบัญชีให้สอดคล้องกับโครงการแต่ละโครงการ และพัฒนาแนวทางการถ่ายทอดความรู้ผ่านการสร้างครูบัญชีอาสา การสอนบัญชีรับ – จ่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในถิ่นทุรกันดารและการสอนบัญชีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน เพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่ผู้รับบริการ
สำหรับการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยกระดับผู้บริหารสหกรณ์ในยุคดิจิทัล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จากทั่วประเทศ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์การทุจริตของสหกรณ์ในปัจจุบัน การป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ และแนวทางการบริหารสหกรณ์ในยุคดิจิทัล รวมทั้งความสำคัญของระบบการควบคุมภายในที่ดีของสหกรณ์ พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ประโยชน์จากการใช้งานแอปพลิเคชัน Smart4M เพื่อสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น