กระทรรวงเกษตรฯ ถอดบทเรียนความสำเร็จการควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก “จันทบุรีโมเดล” สู่การแก้ปัญหาทุเรียนทั่วไทย หลังพบการส่งออกเฟื่องสุดๆครึ่งปีแรกส่งออกไปจีนแล้วกว่า 7.6 แสนมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าส่งออกภายในปี 2566 โกยถึง 2 แสนล้านบาท
นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานควบคุมคุณภาพทุเรียนในระดับพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมกับนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนรวมถึงตัวแทนเกษตรกร ณ ห้องประชุมตากสิน ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ว่า จากการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ร่วมกันในการถอดบทเรียนความสำเร็จทุเรียนภาคตะวันออก เพื่อยกระดับจัดระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพให้เข้มข้นยิ่งขึ้นและใช้เป็นโมเดลในการทำงานควบคุมคุณภาพทุเรียนต่อไป
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า จากความสำเร็จในการแก้ปัญหาทุเรียน ทำให้ทุเรียนภาคตะวันออกเป็นต้นแบบของทั้งประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งขณะนี้มูลค่าการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.66 – 13 ก.ค.66 รวมการส่งออก 45,775 ชิปเมนต์ ปริมาณ 765,985.95 ตัน มูลค่า 99,390.68 ล้านบาท และตั้งเป้าให้ถึง 2 แสนล้านบาทภายในปี 2566 นี้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าทุเรียนภาคตะวันออก เป็นทุเรียนมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานส่งออก มีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดจีนรวมไปถึงตลาดทั่วโลกได้
สำหรับการดำเนินการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก “จันทบุรีโมเดล” ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การเตรียมความพร้อมในระดับจังหวัดและส่วนกลาง, 2. กำหนดมาตรการ 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) การขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) และมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดในประเทศ (ค้าส่ง-ค้าปลีก), 3. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ และบุคคลทั่วไป, 4. จัดประชุมอบรมผู้เกี่ยวข้อง ประชุมเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ พัฒนาทักษะ Q.C โรงคัดบรรจุ และนักคัดนักตัด, และ 5. ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น