ฉันทานนท์ วรรณเขจร
สศก. ระบุ ส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปอาเซียน ไตรมาสแรก มูลค่าส่งออกกว่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่นำเข้ามีมูลค่ากว่า 4.7 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 2.81 ไทยได้เปรียบดุลการค้า 53,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.18 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติของไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม – มีนาคม) ปี 2566 พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้า รวม 148,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.18 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยมีมูลค่าส่งออก 101,062 ล้านบาท
สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาล เช่น น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ / เครื่องดื่มชูกำลัง / ข้าว / เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น นมยูเอชที นมถั่วเหลือง / อาหารปรุงแต่ง เช่น เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม / น้ำยางธรรมชาติ / อาหารสุนัขหรือแมว / ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เช่น ผงปรุงรส น้ำปลา น้ำมันหอย ซอสพริก เครื่องแกงสำเร็จรูป / ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้เลี้ยงสัตว์
สำหรับการนำเข้ามีการขยายตัวลดลง โดยมีมูลค่าการนำเข้า 47,674 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 2.81 สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง เช่น มันเส้น มันสำปะหลังอัดเม็ด และมันสำปะหลังแช่แข็ง / เมล็ดข้าวโพดสำหรับคั่ว (ป๊อบคอร์น) และข้าวโพดที่เหมาะสำหรับมนุษย์บริโภคและทำอาหารสัตว์ / อาหารปรุงแต่ง เช่น เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม / บุหรี่ที่มียาสูบ / อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก / ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด มะพร้าว ถั่วลิสง / เมล็ดหักและแป้งหยาบของข้าว / ปลาทูนาบรรจุกระป๋อง / ขนมจำพวกเบเกอรี่ เช่น บิสกิต เค้ก เพสทรี / โคมีชีวิต
เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าในตลาดอาเซียนช่วง 3 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 53,387 ล้านบาท (เพิ่มขี้นร้อยละ 19.53) โดยตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 26,290 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.01 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาล / ข้าว / อาหารสุนัขหรือแมว / ถั่ว / ผลไม้สด (ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด) / ครีมเทียม / อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก / เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น นมยูเอชที นมถั่วเหลือง / ปลายข้าว
รองลงมา คือ มาเลเซีย มีมูลค่าส่งออก 18,001 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.81 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางธรรมชาติ / น้ำตาล / ชิ้นเนื้อและส่วนอื่นของไก่ (ปีก โคนขา ตับ) แช่แข็ง / อาหารสุนัขหรือแมว / น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม / แป้งมันสำปะหลัง / อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก / ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เช่น ผงปรุงรส น้ำปลา น้ำมันหอย ซอสพริก เครื่องแกงสำเร็จรูป
และอันดับที่สาม คือ กัมพูชา มีมูลค่าส่งออก 13,331 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.17 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาล / เครื่องดื่มชูกำลัง / เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น นมยูเอชที นมถั่วเหลือง / ครีมเทียม / ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ / นู๊ดเดิลพร้อมปรุง / ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เช่น ผงปรุงรส น้ำปลา น้ำมันหอย ซอสพริก เครื่องแกงสำเร็จรูป / ไส้กรอก / ปลาปรุงแต่ง เช่น ไส้กรอกปลา ลูกชิ้นปลา / กากน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และกากแข็งอื่นๆ ที่ได้จากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง เช่น แป้งถั่วเหลืองพร่องไขมัน กากถั่วเหลือง
ทั้งนี้ สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยยังคงเติบโตได้ดีและสินค้าเกษตรไทยก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียนและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับ ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิต และเพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถ ทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตต่อไป
ตารางแสดง …
ตารางแสดงสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับภูมิภาคอาเซียน
ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 หน่วย: ล้านบาท |
||||||
ประเทศ | มูลค่าการค้า | มูลค่าการส่งออก | สัดส่วนมูลค่าการส่งออก (%) | มูลค่าการนำเข้า | สัดส่วนมูลค่าการนำเข้า (%) | ดุลการค้า |
อินโดนีเซีย | 32,627 | 26,290 | 26.01 | 6,336 | 13.29 | 19,954 |
มาเลเซีย | 23,252 | 18,001 | 17.81 | 5,251 | 11.01 | 12,751 |
กัมพูชา | 18,331 | 13,311 | 13.17 | 5,020 | 10.53 | 8,291 |
เมียนมา | 20,719 | 10,864 | 10.75 | 9,855 | 20.67 | 1,008 |
ฟิลิปปินส์ | 10,679 | 9,424 | 9.32 | 1,255 | 2.63 | 8,168 |
เวียดนาม | 14,889 | 8,562 | 8.47 | 6,328 | 13.27 | 2,234 |
ลาว | 17,364 | 8,285 | 8.20 | 9,078 | 19.04 | -793 |
สิงคโปร์ | 10,641 | 6,091 | 6.03 | 4,550 | 9.54 | 1,540 |
บรูไน | 234 | 234 | 0.23 | 0.03 | 0.0001 | 234 |
รวม | 148,736 | 101,062 | 100.00 | 47,674 | 100.00 | 53,387 |
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คำนวณจากสถิติการค้าสินค้าของกรมศุลกากร | ||||||
หมายเหตุ: สินค้าเกษตรในที่นี้ หมายถึง สินค้าพิกัดศุลกากร 01-24 รวมยางพารา (ธรรมชาติ) 4001 |
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ