กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยันไม่ทอดทิ้งสหกรณ์ในโครงการ ASPL

  •  
  •  
  •  
  •  

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงไม่ทอดทิ้งสหกรณ์ในโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร (ASPL) เผยถ้าสหกรณ์ใดติดขัดปัญหาเรื่องการส่งชำระเงินค่าธรรมเนียมจากการใช้อุปกรณ์ เพื่อเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ สามารถประสานงานผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่เพื่อขอผ่อนผันได้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของสหกรณ์การเกษตรที่ได้เข้าร่วมโครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ASPL ว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งได้อนุมัติหลักการแผนงานพัฒนาคุณภาพสินค้าและการจัดการผลผลิตของสถาบันเกษตรกร โดยมอบหมายให้ “กรมส่งเสริมสหกรณ์” จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร (ASPL) เพื่อพัฒนาด้านการผลิต การตลาด และการจัดการผลผลิตการเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สนองตอบกับความต้องการของผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกร

โดยโครงการดังกล่าวได้จัดสรรเงินอุดหนุนจ่ายขาดให้แก่สถาบันเกษตรกรนำไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โรงสี ไซโล ลานตาก ฉาง ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ โรงงานผลิตอาหารโคนม โกดังเก็บอาหารโคนม โรงตากยางแผ่นดิบ / ยางเครป โรงยางแผ่นรมควัน โรงงานผลิตยางแห้ง โรงสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น และกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันเกษตรกรจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดังกล่าว โอนเข้าบัญชีที่เปิดไว้กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 20 ปี

เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันให้แก่สถาบันเกษตรกรอื่น ๆ ในปีต่อ ๆ ไป และเพื่อเป็นมาตรการส่งเสริมให้สหกรณ์ มีความรับผิดชอบต่อเงินอุดหนุนที่ได้รับจากภาครัฐ และตั้งใจใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และปัจจัยพื้นฐานหรือสิ่งก่อสร้างที่ได้รับ รวมทั้งการนำเงินบริจาคของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการเข้า กพส. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันของสหกรณ์อื่น

จากการสรุปข้อมูลของโครงการดังกล่าว ณ 31 มีนาคม 2566 สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการได้ชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมได้ตามข้อกำหนด จำนวน 152 แห่ง รวมจำนวนเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมเข้า กพส. เป็นเงิน1,288.516 ล้านบาท ยังมีสหกรณ์ที่ค้างชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียม จำนวน 39 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 20.52 ของจำนวนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ) จำนวนเงิน 381.529 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 22.82 ของแผนการชำระ)ซึ่งตลอดระยะเวลาในระหว่างการดำเนินโครงการที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีมาตรการผ่อนผัน และให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องการไม่สามารถส่งชำระเงินคืนได้ ดังนี้

1.ให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับการผลิตและการตลาดแก่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ 2.เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและการตลาดระหว่างสหกรณ์การเกษตรและเอกชนต่าง ๆ 3. สนับสนุนเงินกู้ให้แก่สหกรณ์ตามโครงการ ASPL ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเพื่อไปทำโครงการยืมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ร้อยละ 1 ต่อปีจาก กพส. แบ่งเป็น โครงการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 74 แห่ง รวมเงินกู้ยืม 975.50 ล้านบาท และโครงการเงินทุนเพื่อฟื้นฟูอุปกรณ์การตลาด จำนวน 72 แห่ง จำนวนเงินกู้ยืม 527.56 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา กรมฯได้ติดตามการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และปัจจัยพื้นฐานที่ได้รับการอุดหนุนจากโครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ASPL มาโดยตลอด และหากสหกรณ์ใดติดขัดปัญหาเรื่องการส่งชำระเงินค่าธรรมเนียมจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ สามารถประสานงานผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่เพื่อขอผ่อนผัน กรมฯก็จะมีมาตรการในการช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ และช่วยวางแผนในการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่ได้รับจากโครงการ ASPL เพื่อต่อยอดธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรให้กับสหกรณ์การเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สหกรณ์เหล่านี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจและช่วยสนับสนุนการประกอบอาชีพการเกษตรของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ของตนเองได้ต่อไป