ซีพีเอฟ  ได้รับคัดเลือกเป็นบ.นำร่อง ร่วมโครงการ วีกรีน ม.เกษตรฯ ต้นแบบนำเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติจริง

  •  
  •  
  •  
  •  
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ  ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ “มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร” (Circular Economy Management System for the Organization) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ส่งเสริมการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการปฏิบัติจริงในองค์กร  
   ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy) ซึ่งเป็นโครงการฯระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   และบริษัทเอกชนรวม 32 บริษัท จาก 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด  โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    เป็นประธานในพิธีลงนาม ร่วมกับบริษัทเอกชน 32 แห่ง   โดยในส่วนของซีพีเอฟ  โดยบริษัท  ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด   (โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก)  มีนายเกริกพันธุ์ ดีประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เป็นตัวแทนลงนาม ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
    นายเกริกพันธุ์ กล่าวว่า   บริษัท  ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด   (โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก)    ได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทนำร่องเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร ร่วมผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติจริง เป็นโรงงานนำร่องของซีพีเอฟ  จากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร  ยกตัวอย่างโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการดำเนินการในโรงงาน อาทิ การใช้พลังงานทดแทนโซลาร์  รูฟท็อป (Solar rooftop) การนำตะกอนระบบบำบัดน้ำเสียมาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดของเสียที่ถูกนำไปกำจัดสู่ภายนอก และการขยายผลโครงการการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง solar rooftop และ solar floating จากธุรกิจในกลุ่มธุรกิจ (โรงงานอาหารสำเร็จรูปโคราช)
      สำหรับงการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว นอกจากทางโรงงานฯ จะได้รับความรู้ในเรื่องระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นการยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรที่ทราบถึงกฎเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆที่จะนำมาใช้กับเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์  ภายในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายความยั่งยืนของซีพีเอฟ  CPF 2030 Sustainability in Action และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
    ด้าน รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน ในฐานะหัวหน้าโครงการ ฯ  กล่าวว่า ประเทศไทยมี BCG Model เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน  แต่ยังมีคำถามว่าจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติอย่างไร  ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำการตลาดกับคู่ค้าธุรกิจ หรือประเทศที่ไทยส่งออกสินค้า ซึ่งทั่วโลกมีนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก จึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมาตรฐานการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล
      โครงการ “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน  ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข.  ระยะเวลาดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนำร่อง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึง เดือนธันวาคม  พ.ศ. 2566 ซึ่งมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่่วยสนับสนุนให้องค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดทำระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ  การส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ  การลดปริมาณของเสีย  ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ช่่วยผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย  ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป