สศก.สรุปจีดีพีภาคเกษตรโตแค่ 0.8 % คาดปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0  ชี้ปัจจัยมาจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ

  •  
  •  
  •  
  •  

“เฉลิมชัย” ชี้ประเทศไทยจะแข็งแกร่งไม่ได้ ถ้าภาคเกษตรไม่เข้มแข็ง ระบุเพราะภาคเกษตร คือรากฐานวิถีชีวิตของสังคมไทย และเกษตรกรเป็นอาชีพที่ผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ วอนทุกภาคส่วนหันมาร่วมมือกัน สร้างรากฐานภาคเกษตรไทยให้เข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งไปด้วยกัน  ขณะที่ สศก. สรุปจีดีพีเกษตร ปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ภาคประมง,kแรงสุดโต 3 %  คาดปี 66 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0  ปัจจัยมาจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการทำเกษตร  

       วันที่ 15 ธันวาคม  2565 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเวทีใหญ่สัมมนา Year End ประจำปี แถลงบทสรุปภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 “Go Together Better Thailand เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง” โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง” และมอบโล่ให้แก่เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ดีเด่น ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร

นายเฉลิมชัย กล่าวปาฐกถาโดยสรุปว่า ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่า GDP ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.5 ของ GDP ทั้งประเทศ แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า  ภาคเศรษฐกิจอื่น โดยมีเนื้อที่ทางการเกษตร 149.25 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ

ที่สำคัญ ภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาทต่อปี และมีดุลการค้าเกินดุลเฉลี่ย 8.6 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นทางรอด ช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทยในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่น ช่วยบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่ประเทศประสบปัญหา  ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

                                                                                               เฉลิมชัย ศรีอ่อน  

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตร 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ตลาดนำการผลิต, เทคโนโลยีเกษตร 4.0, เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน (Safety-Security-Sustainability) หรือ 3’s, การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน, และ เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาให้เกษตรกรสามารถก้าวทันและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับวิกฤตต่าง ๆในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ กุญแจสำคัญ คือ ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง แน่นอนว่า ประเทศไทยจะแข็งแกร่งไม่ได้ ถ้าภาคเกษตรไม่เข้มแข็ง เพราะภาคเกษตร คือ รากฐานวิถีชีวิตของสังคมไทย และเกษตรกร เป็นอาชีพที่ผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร มีผลต่อระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้น มาร่วมมือกัน สร้างรากฐานภาคเกษตรไทยให้เข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งไปด้วยกัน” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้านนายฉันทานท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ขณะนี้ สศก. ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันในชื่อ “บอกต่อ” ซึ่งจะบอกให้เกษตรกรได้ทราบว่า จะสามารถขอรับปัจจัยการผลิต ขอรับบริการตรวจและรับรองต่างๆ ได้ที่ไหน อย่างไร รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ สถานการณ์การผลิต ราคาสินค้าเกษตร และสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ โดยจะพัฒนาแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและภาคเกษตร

                                                                                         ฉันทานท์ วรรณเขจร  

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยสาขาพืช สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาประมงหดตัว ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุน คือ ปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมง รวมถึงสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและมีการบำรุงดูแลรักษามากขึ้น การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในด้านต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตรทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต การเฝ้าระวังโรคพืชและสัตว์ การบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน และบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้ต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” ทำให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การเปิดประเทศ และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวได้มากขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ คือ ปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงอิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอกในช่วงไตรมาส 3 โดยเฉพาะ พายุ “โนรู” ที่พัดเข้าไทยโดยตรงในช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกือบทั้งประเทศ ขณะที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติสะสมอยู่มาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคสัตว์ ทำให้มีการชะลอการเลี้ยง ควบคุมปริมาณการผลิต นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการ Zero-COVID ของจีน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.1 เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช รวมถึงราคาสินค้าพืชหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกและเอาใจใส่ในการบำรุงดูแลผลผลิตพืชมากขึ้น แม้ว่าในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 บางพื้นที่ของประเทศจะได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหาย แต่การผลิตพืชส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง    อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย และทุเรียน ส่วนพืชที่ลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา มังคุด และเงาะ

สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 3.0  โดยสินค้าปศุสัตว์ที่ลดลง ได้แก่ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ สำหรับสุกรมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ขณะที่เกษตรกรบางส่วนชะลอการเลี้ยงจากราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ไข่ไก่มีผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง และน้ำนมดิบมีผลผลิตลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนม ทำให้แม่โคผสมพันธุ์ติดยากและรีดนมได้ลดลง สินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และโคเนื้อ  โดยไก่เนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และโคเนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการควบคุมและป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด รวมทั้งภาครัฐมีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการทำประมง โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลงอย่างมาก ขณะที่ปลานิลและ
ปลาดุกมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเกษตรกรบางรายลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลาเพื่อลดภาระต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับฝนตกชุกต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และอิทธิพลของพายุโนรูในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในแหล่งเลี้ยงปลานิลและปลาดุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม
กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แม้ว่าเกษตรกรบางส่วนยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่น โรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.7 เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และราคาอ้อยโรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นมาปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ ครั่ง และรังนกเพิ่มขึ้น โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิตเยื่อกระดาษ การก่อสร้าง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ภายในประเทศของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ครั่งเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศ และมีความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ เป็นต้น และรังนกมีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการทำเกษตร การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐด้านการเกษตรในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ราคาปัจจัยการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารเคมีกำจัดโรคและแมลง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ การระบาดของโรคพืชและสัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้งซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก