กรมวิชาการเกษตรยื่นหนังสือถึงสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอเปิดตลาดดัน เสาวรส อินทผลัม สละ สนใบพาย ไปยังแดนมังกรเพิ่มเติม พร้อมหารือระหว่างทวิภาคี ระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย -แปซิฟิก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565 นี้
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ยื่นหนังสือขอเปิดตลาดส่งออก อินทผลัม เสาวรส สละ และสนใบพาย ไปจีนเพิ่มเติม กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เตรียมพร้อมหารือระหว่างทวิภาคี ระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย -แปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565 นี้
จากข้อมูลการส่งออกผลไม้สดของไทยไปจีน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – ตุลาคม 2565 มีปริมาณสูงถึง 1.48 ล้านตัน สร้างมูลค่ากว่า 1.09 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดที่สร้างมูลค่าสูงสุดในการส่งออก 5 อันดับแรก คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย สับปะรด และ ส้มโอ ซึ่งประเทศไทยยังมีสินค้าพืชที่มีศักยภาพในการส่งออกอีกหลายชนิด อาทิเช่น เสาวรส อินทผลัม สละ และ สนใบพาย ซึ่งเป็นสินค้าพืชที่เป็นที่ต้องการในตลาดจีน จึงได้ถือโอกาสผลักดันให้มีการส่งออกไปประเทศจีน
อินทผลัม มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 14,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 5,000 ตัน โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญที่ กาญจนบุรี นครราชสีมา สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด และ บุรีรัมย์ โดยมีพันธุ์ที่ไทยประสงค์ส่งออกไปจีน 5 พันธุ์ คือ บาฮีเหลือง บาฮีแดง อัมเอ็ดดาฮาน โคไนซี และ จี-2
เสาวรส มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 6,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 3,100 ตัน แหล่งปลูกที่สำคัญที่ เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน และ บุรีรัมย์ พันธุ์ที่ไทยประสงค์ส่งออกไปจีน 3 พันธุ์ คือ พันธุ์สีม่วง พันธุ์สีเหลือง และ พันธุ์ผสม (F1-Hybrid)
สละ มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 6,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 3,100 ตัน แหล่งปลูกที่สำคัญที่ เชียงราย เชียงใหม่ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว พันธุ์ที่ไทยประสงค์ส่งออกไปจีน 4 พันธุ์ คือ เนินวง สุมาลี หม้อ และ อินโด
สนใบพาย เป็นไม้ประดับที่มีรูปทรงสวยงาม มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นิยมนำไปปลูกเป็นไม้มงคล หรือทำบอนไซ แหล่งปลูกที่สำคัญคือ สมุทรสาคร นครนายก และสระบุรี มูลค่าการส่งออกไปจีนคาดว่าประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี
สำหรับเงื่อนไขการส่งออกผลไม้ คือ เสาวรส สละ และอินทผลัม ต้องเป็นไปตาม ข้อกำหนดในพิธีสารฯ และตาม “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากไทยไปจีน พ.ศ. 2564″ ส่วนเงื่อนไขการส่งออกต้นสนใบพาย เป็นไปตาม ข้อกำหนดในพิธีสาร ฯ
“กรมวิชาการเกษตรตะหนักถึงความสำคัญในประเด็นการค้าและการเปิดตลาดการค้าสินค้าเกษตรไปยังจีนอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเปิดตลาดสินค้าพืชใหม่ เสาวรส สละ อินทผลัม และสนใบพาย ไปจีน สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และ เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าพืชของไทยไปยังจีน อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรขอเน้นย้ำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรักษาคุณภาพมาตรฐานการส่งออกผลไม้ไปจีนอย่างเคร่งครัดโดยให้ปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีนและเงื่อนไขที่กำหนดเกี่ยวกับการส่งออกผลไม้ไปจีน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว