กระทรวงเกษตรฯ จับมือกระทรวงพาณิชย์ ใส่เกียร์สั่งลุยแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ ล่าสุดผู้ประกอบการยินดีที่จะชะลอการนำเข้ามะพร้าวตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ขณะที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ลงมติให้ใช้มาตรการปกป้องพิเศษในการแกัญหา มั่นใจไม่เกินปลายปีนี้ ราคากลับสู่ภาวะปกติ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับทุกหน่วยงานในการเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวที่ออกสู่ตลาด กับสัดส่วนปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ในประเทศมีความสมดุลกัน และไม่ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้
รวมทั้งได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ และร่วมรับฟังปัญหาจากเกษตรชาวสวนมะพร้าว เครือข่ายชาวสวนมะพร้าว สมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาพร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา และเสนอให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2565เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำเรียบร้อยแล้ว ดังนี้
1.ผู้ประกอบการยินดีที่จะชะลอการนำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบความตกลง AFTA ปี 2565 ช่วงที่ 2 (เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565) รวมทั้งพร้อมให้ความร่วมมือในการชะลอการนำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบความตกลง WTO กะทิสำเร็จรูป และกะทิแช่แข็ง ออกไปก่อน จนกว่าราคามะพร้าวผลภายในประเทศจะกลับสู่ภาวะปกติ
2.เห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2565 ในกรณีที่มีการนำเข้ามะพร้าวผลแก่เกินกว่า 305,335 ตัน ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 72 เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทางด้านราคาจากการที่มีการนำเข้ามากเกินไป
จากมาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดสต็อกมะพร้าวที่อยู่ในล้งและตามบ้านเรือนของเกษตรกรได้ และคาดว่าจะส่งผลให้ราคามะพร้าวผลแห้ง (ใหญ่) เพิ่มสูงขึ้นกลับมาเป็นผลละ 12 – 15 บาท ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามข้อผูกพันตามกรอบความตกลงการค้าระหว่างประเทศและช่วยให้เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาด รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าสินค้าเมล็ดถั่วเหลือง และสินค้าน้ำมันถั่วเหลืองและแฟรกชันของน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าวและมะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าวและแฟรกชันของน้ำมันมะพร้าว 3 ปี (ปี 2566 – 2568) โดยในส่วนของการบริหารจัดการสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองทั้ง 8 สมาคม ยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการผลิต และรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศ ในราคาตามกลไกตลาด แต่ไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ ตามชั้นคุณภาพ ซึ่งเป็นระดับราคาที่เพิ่มขึ้นจากช่วง ปี 2563 – 2565 อีกกิโลกรัมละ 2.25 บาท
นอกจากนี้ยินดี สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลผลิตเมล็ดถั่วเหลืองให้กับสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน เพิ่มเติมอีกในราคากิโลกรัมละละ 2 บาท ทุกชั้นเกรดคุณภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร/วิสาหกิจชุมชน
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หากพิจารณาข้อมูลการผลิตและการส่งออกมะพร้าวไทยปี 2565 สศก. พบว่า ไทยมีผลผลิตมะพร้าวประมาณ 0.969 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 5.62 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นโดยผลผลิตส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก
เนื่องจากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำเข้าลดลง อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศยุโรป โดยจะเห็นได้จากปริมาณส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม – กรกฎาคม) มีปริมาณรวม 85,031 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 36.21 หรือคิดเป็นมะพร้าวผลประมาณ 115,000 ตัน ดังนั้น ส่งผลทำให้มีปริมาณสต็อกมะพร้าวในประเทศจำนวนมาก ทำให้ราคามะพร้าวผลแห้ง (ใหญ่) ที่เกษตรกรขายได้ลดลง โดยในเดือนกันยายน 2565 เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท ลดลงจากราคาเฉลี่ยผลละ 13.37 บาทในเดือนมีนาคม 2565 ร้อยละ 38.74
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการตามมติประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะสามารถช่วยลดสต็อกมะพร้าวและจะส่งผลให้ราคามะพร้าวกลับมาสู่ภาวะปกติภายในปลายปีนี้ จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามตามมาตรการข้างต้นเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองและสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชนร่วมกัน