รอลุ้นมติสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 29-30 สิงหาคม 2565 นี้ พิจารณางบประมาณกระทรวงเกษตรฯปี 2565 กว่า 1.29 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 17% หลังจากสภาผู้แทนฯ ไฟเขียวผ่านวาระ 2-3 เรียบร้อยแล้ว เน้นภารกิจ 4 ด้าน ทุ่มให้ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดกว่า 8 หมื่นล้านบาท
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 17-23 สิงหาคม 2565 สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2566 จำนวน 129,743.9629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 18,841.3948 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) ซึ่งสามารถจำแนกประเภทงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องตามภารกิจรวม 4 ด้าน ดังนี้
1.ด้านความมั่นคง จำนวน 276.7521 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 46,159.0122 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจริยะและส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 2,569.4572 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส
4. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 80,738.7414 ล้านบาทดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม การป้องกันระดับน้ำเค็มการปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการลดการเผาในพื้นที่เกษตร
สำหรับการดำเนินงานตามภารกิจในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการที่สนับสนุนแผนแม่บทประเด็นการเกษตร โดยมีโครงการสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการ รวม 18 โครงการ งบประมาณ 2,551.0300 ล้านบาท อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลง เกษตรอัจฉริยะ
โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร รวมไปถึงโครงการที่สนับสนุนแผนแม่บทอื่น ๆงบประมาณ 71,730.1425 ล้านบาท อาทิ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนงานตามภารกิจพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น จำนวน 3,463.7273 ล้านบาท อาทิ การป้องกันโรคระบาดสัตว์ การจัดที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อย การพัฒนาพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ การส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร และการจัดทำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทางการเกษตร
ด้านดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเป็นเจ้าภาพหลักแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้สูงขึ้น โดยได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 1,444.3502 ล้านบาท มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 7 กระทรวง 21 หน่วยงาน 1 หน่วยงานอื่นของรัฐ และ 1 รัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้จะดำเนินงาน14 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น จำนวน 342.1202 บาท โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน จำนวน 301.4931 บาท โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 147.9090 ล้านบาท โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 229.8054 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer ) จำนวน 107.4822 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ต้องรอสมาชิกวุฒิสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีกครั้งในวันที่ 29-30 สิงหาคม 2565 ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายในเดือนกันยายน 2565 โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรมีทักษะมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และปรับตัวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ปรับปรุงฟื้นฟูอย่างยั่งยืน