ส่งออกยางไทยผงาดที่ 1 ของโลก ชี้จีนลูกค้ารายใหญ่ที่สุดกว่า 49%

  •  
  •  
  •  
  •  

“อลงกรณ์” เผยครึ่งปีแรก ไทยยืนเบอร์ 1 แชมป์โลกส่งออกยาง ระบุตลาดใหญ่ที่สุดคือจีน 49% ล่าสุด คกก.ออก 6 มาตรการบุกตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ พร้อมจัดตั้งแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทย ผนึกพลังทุกภาคส่วนเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting เมื่อวันที่ 12 ส.ค.65 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดยาง รวมทั้งมุมมองและข้อเสนอแนะจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรของไทยทุกภูมิภาคทั่วโลก และรายงานของการยางแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ตลา และการส่งออกครึ่งปี 2565 ยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก

ส่วนปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง 2,190,065 ตัน โดยเฉพาะจีนนำเข้ายางไทยเป็นอันดับหนึ่งครองมาร์เก็ตแชร์ถึง 49% รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าของมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยกยท. เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความผันผวนของราคายาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อต้นทุนการผลิต ระบบโลจิสติกส์ สถานการณ์เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและภาวะตลาด ทำให้ราคาผันผวน จำเป็นต้องเพิ่มกลไก และมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโดยเน้นการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วนร่วมกัน

นอกจากนี้ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทยเป็นองค์กรความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยแนวทางความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (Partnership principal) เป็นการผนึกพลังให้แข็งแกร่งในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลกเป็นองค์กรในลักษณะเดียวกับแพลตฟอร์มเครือข่ายความร่วมมือ FKII ของญี่ปุ่นซึ่งมีกว่า 4,200 องค์กรเป็นสมาชิก และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยประสานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรไทยในญี่ปุ่น เพื่อจัดทำโครงสร้างและระบบของแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทย เสนอในการประชุมคราวหน้า และให้เพิ่มมาตรการใหม่อีก 6 มาตรการเชิงรุก ได้แก่

1. มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเช่นการผลิตสื่อดิจิทอลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ ,2. มาตรการตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางในรายตัวสินค้าและในรายประเทศคู่ค้า (product based &country based)  3. มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเร่งดำเนินการก่อนประเทศคู่แข่ง โดยใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตอบโจทย์เทรนท์ของตลาด เป็นต้น

4. มาตรการระยะสั้นรายไตรมาส เพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบกยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน , 5. มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูงเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยาง และผู้ประกอบการ โดยให้กยท.ประสานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC) ซึ่งมีผลงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยางจำนวนมาก

6. มาตรการเชิงกลไกการตลาด เช่น การแทรกแซงตลาด ซึ่งกยท.ได้ดำเนินการโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโดยเข้าแทรกแซงตลาดเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเชิงกลไกตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์ เป็นค้น

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมครั้งนี้เห็นด้วยให้จัดฟอรั่มอัพเดทสถานการณ์ตลาดยางโลกทุก 2 เดือน โดยกยท.และสำนักงานเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรฯ ไทย เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้ทราบข้อมูลรอบด้านที่ทันโลกทันเหตุการณ์ด้วยระบบออนไลน์คู่ขนานกับการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ และยังมอบหมายให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ณ กรุงบรัสเซลส์ ประสานกับกยท. สถาบันชาวสวนยางและภาคเอกชนไทยในการขับเคลื่อนรับมือการเคลื่อนไหวของอียู ในประเด็น Deforestationรวมทั้ง มอบหมายกยท.ให้รวบรวมข้อมูลของสภาการยางแห่งมาเลเซีย (MRC) และนโยบายการวิจัยยางของมาเลเซียส่งให้กับกรรมการทุกคนเพื่อศึกษาเปรียบเทียบและนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.799 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.88% และคาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติปี 2565 มีปริมาณ 4.275 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.41% โดยมีมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยาง ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 มีมูลค่า 167,213 ล้านบาท และมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติไปยังต่างประเทศ ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 มีมูลค่า 70,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด คิดเป็น 49% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4% และอื่น ๆ 25%