ซีพีเอฟ ยกระดับมาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า นำเทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้ระบบอัตโนมัติเชื่อมการทำงานแบบอัจฉริยะ และติดตามผลได้แบบ Real Time หนุน Smart Farm – Smart Factory และหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตอกย้ำศักยภาพของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของซีพีเอฟมาตรฐานระดับโลก ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน พร้อมทั้งยกเลิกการใช้ถ่านหินในการดำเนินงานของสายธุรกิจไก่เนื้อและเป็ดเนื้อ 100 %
นายภาณุวัตร เนียมเปรม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัท ฯ ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และ อินเตอร์เน็ต มาใช้เพื่อเชื่อมโยงกับอุปกรณ์การทำงาน (Internet of Things : IoT) ในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ไปจนถึงการสนับสนุนการทำงานระบบอัตโนมัติ (Automation) ในโรงงานผลิตอาหาร
ปัจจุบันธุรกิจไก่เนื้อ ทั้งโรงงานที่นครราชสีมา สระบุรี และมีนบุรี เป็นต้นแบบของการดำเนินโครงการ Smart Farm และSmart Factory ด้วยการนำ AI และ IoT เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ต่างๆ ในฟาร์มตั้งแต่ต้นทางอาหารสัตว์ ไปจนถึงปลายทางเครื่องจักรในกระบวนการผลิตอาหาร
ภาณุวัตร เนียมเปรม
“เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและระบบการทำงานให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารมีความปลอดภัยสูง ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ ช่วยลดการสัมผัสมือ ลดการสูญเสีย ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงในกระบวนการผลิตและการขนส่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร” นายภาณุวัตร กล่าว
ส่วนธุรกิจไก่เนื้อได้นำระบบ Smart Farm มาใช้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่เนื้อ โดยนอกจากการปฏิบัติด้วยความใส่ใจต่อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงในฟาร์มแล้ว ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อติดตามความเป็นอยู่ของสัตว์ อาทิ เครื่องวัดความเร็วลม เครื่องวัดความร้อนตัวไก่ เครื่องวัดปริมาณแอมโมเนีย เครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบปรับระดับอุปกรณ์ให้อาหารและน้ำไก่อัตโนมัติ ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมดผ่านระบบคอมพิวเตอร์และกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งสามารถนำฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์และต่อยอดเข้าสู่ Big Data เพื่อการพัฒนาในอนาคต
การติดตั้ง AI และ IoT จะช่วยให้การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลมีความแม่นยำสูง ทั้งยังเชื่อมโยงระบบการทำงานแบบอัจฉริยะเข้ากับแอปพลิเคชั่นที่บริษัทฯสร้างขึ้นให้เป็นระบบเดียวกัน ทำให้สามารถติดตามการทำงานและประเมินผลตลอดห่วงโซ่คุณค่า(Value Chain)ได้ทันที (Real Time) และทุกสถานที่ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ลดความเสี่ยงและการสูญเสีย ที่สำคัญช่วยในการตรวจสอบย้อนกลับอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต
ในกระบวนการผลิตไก่เนื้อ บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ ตัดแยกชิ้นส่วนไก่โดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Auto Cutting Machine : ACM )รวมถึงกระบวนการแล่และตัดแต่งสินค้าพิเศษ โดยนำเครื่องแล่น่องสะโพก(BL Deboner) เครื่องแล่เนื้อหน้าอก (BB Deboner) เครื่องตัดเนื้อ (Block Steak) และเครื่องตัดเนื้อด้วยน้ำความดันสูง (Water Jet) ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพ และลดการปนเปื้อน ก่อนผ่านเข้าสู่กระบวนการปรุงสุกไก่ ในรูปแบบทอด อบ นึ่ง ย่าง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน
ทั้งนี้ในกระบวนการปรุงสุกข้างต้น ได้มีการนำระบบ Smart Factory และระบบ IoT เชื่อมโยงเครื่องจักรอัจฉริยะและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าด้วยกัน รวมถึงการนำระบบชั่งบรรจุอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการ เช่น การจัดเรียงกล่องสินค้าลงพาเลท เป็นต้น
นายภาณุวัตร กล่าวอีกว่า โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา เป็นโรงงานต้นแบบ (Korat Model) ที่ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานอาหารซีพีเอฟ (CPF Food Standard) ภายใต้ชื่อ PS 7818 : 2018 ; CPF Food Safety ,Quality and Sustainability Management System โดย บริษัท บี เอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BSI มีการตรวจประเมินที่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ โรงฟักไข่ ฟาร์มไก่เนื้อ โรงงานชำแหละ และโรงงานอาหารแปรรูป ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารของซีพีเอฟ ธุรกิจไก่เนื้อครบวงจรนครราชสีมา โดยมีเป้าหมายขยายการใช้มาตรฐานอาหารซีพีเอฟและรับรองมาตรฐานในธุรกิจไก่เนื้อและธุรกิจเป็ดเนื้อครบวงจรอื่นๆ ภายในปี 2565
นอกจากนี้ ธุรกิจไก่เนื้อและเป็ดเนื้อครบวงจรของซีพีเอฟทั่วประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานจากก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา ดำเนินโครงการระบบบำบัด Biogas ผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ทดแทนการใช้น้ำมันเตาในหม้อไอน้ำ โครงการ Solar Rooftop นำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และยังได้เตรียมขยายผลแนวทางการพัฒนาโครงการในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันโรงงานอาหารสัตว์บก ธุรกิจไก่เนื้อและเป็ดเนื้อ ยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % หันมาใช้ชีวมวล เช่น ซังข้าวโพด เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในหม้อไอน้ำ