ติวเข้มระเบียบ 248 ย้ำผู้ผลิตอาหารส่งออกไปแดนมังกรต้องผ่านขึ้นทะเบียนกับศุลกากรจีน

  •  
  •  
  •  
  •  


กรมวิชาการเกษตร จัดอบรมระเบียบ 248 และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารส่งออกไปจีน  ตามเงื่อนไขผู้ผลิตอาหารจะต้องขึ้นทะเบียนกับ GACC จึงจะส่งออกไปจีนได้  กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบสินค้า 9 กลุ่ม  เผยมีผู้ผลิตได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 191 ราย  ย้ำการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสำคัญต้องเร่งสร้างความเข้าใจผู้ส่งออก

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการอบรม เรื่อง ระเบียบ 248 และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามระเบียบ 248 ภายใต้การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า เงื่อนไขให้ผู้ผลิตอาหารจากต่างประเทศจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ก่อนจึงจะสามารถนำสินค้าเข้าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้


.
ทั้งนี้จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย และให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการด้านความปลอดภัยอาหารและสุขอนามัยพืช ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการ zero covid ในสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกจีน ซึ่งได้รับความชื่นชมในผลการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว และเป็น next normal

ที่สำคัญปัจจุบันจีนได้ประกาศใช้ระเบียบ 248 ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ที่ต้องดำเนินการ โดยการยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตรจึงจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้

เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญของระเบียบ 248 ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนภายใต้การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร  การจัดการแมลงศัตรูในโรงเก็บ แมลงศัตรูผักสด และมาตรการป้องกันกำจัด รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปจัดเตรียมเอกสาร และดำเนินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้อย่างถูกต้อง โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้รับการขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าไปยังจีน

สำหรับการขึ้นทะเบียนแบ่งเป็น 2  รูปแบบ คือ สินค้าที่ผู้ผลิตอาหารขึ้นทะเบียนโดยตรงกับ GACC ผ่านเว็บไซต์ของ China Import Food Enterprise Registration (CIFER) และ สินค้าที่ผู้ผลิตอาหารต้องขึ้นทะเบียนผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้ส่งออก (CA) จำนวน 18 กลุ่ม โดย CA ต้องตรวจสอบว่าสถานที่ผลิตอาหารดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดและเสนอรายชื่อพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยัง GACC เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบสินค้า 9 กลุ่ม ได้แก่ น้ำมันและไขมันเพื่อการบริโภค      ผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลีสำเร็จรูปยัดไส้

กรณีที่ไม่มีไส้หรือยัดไส้ด้วยผักหรือผลไม้   เมล็ดธัญพืชเพื่อการบริโภค  ผลิตภัณฑ์เมล็ดธัญพืชบดเพื่อการอุตสาหกรรมและมอลต์  ผักสด/อบแห้ง และเมล็ดถั่วอบแห้ง  เมล็ดกาแฟและโกโก้ที่ยังไม่ผ่านการคั่ว  เครื่องปรุงรส  ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืช และ ผลไม้แห้ง  โดยในปัจจุบันมีผู้ผลิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผ่านกรมวิชาการเกษตรแล้วจำนวน 191 ราย