เกษตรฯ พาทูตจีนลุยสวนทุเรียน-มังคุด ท้าพิสูจน์กระบวนการควบคุมการผลิตปลอดโควิด

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ พาเอกอัครราชทูตจีนและคณะลุยสวนทุเรียน มังคุดภาคตะวันออก โชว์ลีลาเก็บเกี่ยวทุเรียนจากบนต้น กระบวนการควบคุมการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน หวังหนุนเพิ่มโควต้าส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกร

       นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับและนำนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย และคณะ เดินทางศึกษาดูงานด้านการเกษตร ณ จังหวัดระยอง และจันทบุรี โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตัวแทนหน่วยงานราชการ องค์กร สถาบันเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

      นายสมชวน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางศึกษาดูงานด้านการเกษตรของเอกอัครราชทูตจีนและคณะในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินมาตรการ GAP Plus และ GMP Plus ที่เป็นมาตรการที่ทางชาวสวนทุเรียนไทยได้ปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ Zero-Covid ของประเทศจีน โดยคณะได้เดินทางไปยังสวนรักตะวัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียน Exotic ต้นทุเรียนมีอายุกว่า 50 ปี ปลูกในดินสีแดง สภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำมีความเหมาะสมในการปลูกทุเรียน จึงทำให้ได้ผลผลิตทุเรียนคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม มีรสชาติและกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

      อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสวนรักตะวันได้รับการประสานงานเป็นอย่างดีกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ในการส่งเสริมองค์ความรู้ และช่องทางการตลาด ต่อมาได้นำคณะเข้าพบหารือกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ ดราก้อน เฟรชฟรุ๊ต อ.มะขาม จ.จันทบุรี เพื่อรับทราบมาตรการ GMP Plus ที่มีการควบคุมดูแลผลไม้ส่งออกที่ปลอดโรคแมลงศัตรูพืชและปลอดโควิด-19 จึงมั่นใจได้ว่าผลไม้ส่งออกไปยังตลาดจีนมีคุณภาพและความปลอดภัย

        จากนั้นเดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ซึ่งถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่ได้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าแบบครบวงจร โดยอาศัยความร่วมมือของสมาชิกสหกรณ์ ตัวสหกรณ์ และผู้ประกอบการ ตั้งแต่การพัฒนากลุ่มผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ การพัฒนาจุดรวบรวมสินค้า การพัฒนากระบวนการคัดแยกและส่งออกร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ในการบริโภคสินค้าที่ผลิตโดยสหกรณ์อีกด้วย

นายสมชวน กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบถึงมาตรการนำเข้าสินค้าของประเทศจีนที่ต้องการให้เป็น Zero Covid จึงได้ดำเนินมาตรการคุมเข้มและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างมาตรฐานการส่งออกผลไม้ที่ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการในสวน โรงคัดบรรจุ และการขนส่ง รวมทั้งได้มีการเพิ่มมาตรการของเกษตรกร จากมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับทุเรียน (GAP) เป็น GAP Plus โดยเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ในสวน

      ทั้งนี้เพื่อลดเชื้อและการปนเปื้อนในผลผลิต สำหรับโรงคัดบรรจุจะเพิ่มมาตรการจากหลักเกณฑ์ในการจัดการขั้นตอนพื้นฐานของกระบวนการผลิต (GMP) เป็น GMP Plus โดยจัดทำมาตรการความปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ (Covid Free Setting) และมาตรฐานความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ในผลไม้

      ขณะเดียวกัน จังหวัดจันทบุรีได้ตระหนักและมีการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกไปจีน จึงได้มีการวางมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ การตรวจ ATK แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุเป็นประจำ การจัด Big Cleaning เพื่อทำความสะอาดโรงคัดบรรจุ และการฉีดพ่นน้ำยาก่อนการบรรจุและก่อนการขนส่งจนสินค้าที่ส่งออกเป็นที่ยอมรับ และมีการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าประเทศจีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนแล้ว 91% ส่งออกแล้ว 87% สำหรับมังคุดเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 73% และส่งออกแล้ว 60%

    ส่วนปริมาณการส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยไปจีน ฤดูกาลปี 2565 ทำลายสถิติส่งออกฤดูกาลปี 2564 ซึ่งปริมาณการส่งออกระหว่าง 1 ก.พ. – 5 มิ.ย. 2565 มีปริมาณ 433,809.92 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มีปริมาณ 425,000 ตัน (ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร)