“อลงกรณ์” ยืนยัน “ฟรุ้ทบอร์ด” แก้ไขปัญหาทุเรียนไทยจนสถานการณ์ดีขึ้น ทำให้ไทยครองแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นอันดับหนึ่งทะลุแสนล้านเป็นครั้งแรก ยอมรับที่คลิปแชร์ว่อนโลกโซเชียล ถึงปัญหาทุเรียนไทยไร้คุณภาพที่ส่งออกไปจีน ยอมรับการส่งออกไป 4 แสนตัน ภายใน 4 เดือนกว่า 120 ล้านลูก ย่อมมีผิดพลาดบ้าง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ (เฉพาะกิจ) เปิดเผยวันนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นคลิปทุเรียนไทยไร้คุณภาพส่งออกไปจีนที่แชร์กันในโลกโซเชียล ว่า ปัญหาทุเรียนไร้คุณภาพเช่นทุเรียนอ่อนทุเรียนแก่มีจริง เพราะ 4 เดือนมานี้มีทุเรียนที่ส่งออกกว่า 4 แสนตัน หรือกว่า 120 ล้านลูก
อลงกรณ์ พลบุตร
อย่างไรก็ตามย่อมเกิดผิดพลาดจากมือตัด มือคัดและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะมือใหม่ที่เข้ามาค้าขายทุเรียนในช่วงปี 2 ปีนี้เนื่องจากราคาดีตลาดโต แต่ปัญหาทุเรียนอ่อน ทุเรียนแก่ ทุเรียนสวมสิทธิ์ในฤดูกาลปีนี้ลดลงและมีแนวโน้มดีขึ้นมาก เพราะ 2-3 ปีมานี้ ทางราชการเข้มงวดกวดขันจับกุมไปหลายราย ลองไปดูตัวอย่างแถวระยอง จันทบุรีและตราด เจ้าหน้าที่ ชาวสวนและล้งร่วมมือกันเข้มแข็งมากๆ เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่ในสวนจนถึงตลาด มีชุดตรวจพิเศษจับเอาโทษหนักทั้งจำคุก-ปรับและถอนใบอนุญาต รวมทั้งการป้องกันทุเรียนต่างชาติมาสวมเป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออก
ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีสวนที่ส่งออกทุเรียนและผลไม้ไปจีนต้องมีใบรับรอง GAP เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนแปลง โดยในปี 2565 เพิ่มเป้าหมายเป็น 120,000 แปลง และ GMP plus สำหรับล้ง ซึ่งยังไม่มีประเทศใดในโลกที่พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานได้แบบนี้ ด้วยมาตรฐานเช่นนี้ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่จีนยอมให้ส่งทุเรียนสดไปขายในจีนได้ ส่วนทุเรียนประเทศอื่นต้องแช่เย็น แช่แข็งหรือแปรรูปถึงจะส่งออกไปจีนเพราะสวนทุเรียนไม่ผ่านมาตรฐานของจีน
วันนี้ทุเรียนไทยสามารถครองตลาดจีนเป็นที่หนึ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำเงินเข้าประเทศจากการส่งออกทะลุกว่าแสนล้านบาทในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากไม่กี่หมื่นล้านเมื่อ 4 ปีก่อน ถ้ารวมผลไม้ทั้งหมด ไทยครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาดจีนกว่า 40% เป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือ ชีลี 14% อันดับ 3 ได้แก่ เวียดนาม 6% ทั้งที่เวียดนามมีพรมแดนติดจีน เรียกว่าทุเรียนไทยผลไม้ไทยครองตลาดและครองใจคนจีนแบบแน่นหนามั่นคง
นายอลงกรณ์ ยอมรับว่า การส่งออกด้วยปริมาณมากๆ และภายในเวลาที่จำกัดย่อมมีผิดพลาดบ้าง แม้จะช่วยกันดูแลเข้มข้นแค่ไหนก็ตาม เพราะมีปริมาณการส่งออกทุเรียน 4 แสนกว่าตันหรือกว่า 120 ล้านลูก ในช่วง 4 เดือนแรกของฤดูกาลผลิตผลไม้ปี 2565 นี่คือความจริงและความยากในการค้าขายทุเรียนสด
ยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นคือผู้ค้ารายใหม่ทั้งไทยและจีนที่เห็นตลาดโตราคาดีเข้ามาค้าขายเพิ่มขึ้นแต่ขาดประสบการณ์จึงมักเกิดปัญหาเรื่องการตัดการคัดทุเรียน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องจัดหลักสูตรฝึกอบรมบ่มเพาะพัฒนาฝีมือมือตัดและมือคัดทุเรียนและล้ง เช่น สวพ.6ที่จันทบุรี
นอกจากนี้ ทุเรียนกว่า 120 ล้านลูกต้องขนส่งไปจีนข้ามน้ำข้ามเขาข้ามลาวข้ามเวียดนามด้วยระยะทางกว่า 2 พันกิโลเมตร บางครั้งติดด่าน 10 วัน 20วัน ย่อมมีโอกาสบอบช้ำหรืองอมมากไปบ้าง ซึ่งพ่อค้าแม่ขายส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากขายครั้งเดียวแล้วเลิกจากการขายทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนแก่ มีแต่คนเห็นแก่ตัวบางส่วนเท่านั้น
ส่วนการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบแปลงใหญ่ (Big Farm) การใช้เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมใหม่เช่นเครื่องมือตรวจเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งแบบดิจิตอล ระบบความเย็น (cold chain system) แบบไนโตรเจน ฟรีซเซอร์ (Nitrogen Freezer) ซึ่งติดตั้งแล้วหลายยูนิตที่ภาคตะวันออกและภาคใต้มีคุณภาพเหนือกว่าระบบแช่แข็งแบบเดิมที่ใข้ในเวียดนามและมาเลเซีย
วันนี้ ทุเรียนไทยนอกจากเป็นแชมป์ในตลาดจีนแล้วยังเป็นแชมป์โลกด้วย จากความร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องของทุกภาคส่วนพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทุกปัญหาด้วยความใส่ใจทั้งปัญหาปัจจุบันและโจทย์ในอนาคต.