“อลงกรณ์” ปักหมุดจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจรที่เมืองจันท์

  •  
  •  
  •  
  •  

“อลงกรณ์” ลุยโครงการมหานครผลไม้ ปักหมุดจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจรที่จันทบุรี พร้อมนำระบบประมูลซื้อขายผลไม้แบบออนไลน์มาใช้ทั่วประเทศ เผย “ฟรุ้ทบอร์ด”เตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวสวนลำไยเพราะพิษโควิดในการประชุมครั้งหน้า

      นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางไปปฏิบัติราชการติดตามงานด้านการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 และเยี่ยมภาคีเครือข่ายชาวนาเกลือ ณ จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหัวหน้าหน่วยราชการ ให้การต้อนรับ

อลงกรณ์ พลบุตร

       ในโอกาสนี้ นายอลงกรณ์ได้เป็นประธานการประชุมเฉพาะกิจแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 และมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดจันทบุรี และระบบออนไลน์ ZOOM cloud meeting พร้อมด้วย โดยที่ประชุมรับทราบ (1) รายงานสถานการณ์การผลิต – การตลาด – การขนส่ง และปัญหาอุปสรรค ของผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 (2) ความก้าวหน้าในการพัฒนาสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (3) ปัญหา อุสรรค ตามมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ได้รับผลกระทบในฤดูกาลที่ผ่านมา

      นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวสวนลำไยเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 ในฤดูกาลที่ผ่านมาโดยขอให้รัฐบาลเยียวยาไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่ การยกเว้นดอกเบี้ยธนาคาร การลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ

      นายอลงกรณ์ แจ้งว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ มีนโยบายช่วยเหลือชาวสวนลำไยโดยให้รับฟังข้อเสนอจากชาวสวนลำไยโดยเมื่อเดือนที่แล้วได้ไปรับฟังชาวสวนลำไยภาคเหนือที่เชียงใหม่มาแล้ว ก่อนมาภาคตะวันออกในวันนี้ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการประมวลข้อคิดเห็นนำเสนอประกอบการพิจารณามติให้ความช่วยเหลือชาวสวนลำไยของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ในการประชุมครั้งหน้าต่อไป

       ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ  กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการมหานครผลไม้จะเร่งจัดคั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจรที่จันทบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการผลไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุดโดยใช้พื้นที่ราชพัศดุที่ตำบลวังโตนด

     เนื่องจากผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 2 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ถือเป็น Fruit Economy ในมุมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่จึงต้องพัฒนาตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาดรวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่างโซ่ผลไม้ ด้วยการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบอย่างมีประสิทธิภาพ     นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ใช้ระบบการประมูลซื้อขายผลไม้แบบออนไลน์และออนไซท์เพื่อพัฒนาระบบการค้าผลไม้ด้วยแฟลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ทันต่อฤดูกาลผลิตผลไม้ปีหน้า