สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ ( 21-25 มี.ค.65) ไข่ไก่ขยับขึ้นอีก

  •  
  •  
  •  
  •  
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
     สัปดาห์นี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ราคาปรับขึ้นจากหาบละ 759 บาท เป็นหาบละ 780 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย เหตุจากมีมรสุมที่พัดเข้ามาทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ไม่เอื้อต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต
       ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2565 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 757.75 เซนต์/บุชเชล การเพาะปลูกข้าวโพดฤดูกาลใหม่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ คาดการณ์สภาพอากาศจะมีปริมาณน้ำฝนพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่มิตเวสท์ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและคลายความกังวลเรื่องความแห้งแล้ง
      ขณะที่ US Energy Information Administration (EIA) รายงานการผลิตเอทานอลในสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 1.042 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสต๊อกเอทานอลสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงสุดที่ 26.148 ล้านบาร์เรล
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
      กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าในสัปดาห์นี้ ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 23.00 บาท ท่าเรือส่งออกของยูเครนบางส่วนเสียหาย จากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองปรับสูง ขณะที่สภาพอากาศฝั่งอเมริกาใต้ยังไม่ดี ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก ทำให้คาดการณ์ผลผลิตลดลง ส่วนค่าระวางเรือยังคงสูงในระดับทรงตัว
     ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2565 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 1,718.75 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 485.1 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาปรับขึ้นเล็กน้อย จากความกังวลเรื่องปริมาณถั่วเหลืองฤดูกาล 2564/65 ในประเทศอเมริกาใต้ ที่รับผลกระทบจากความแห้งแล้งในช่วงก่อนหน้า        CONAB ประเมินปริมาณผลผลิตของประเทศบราซิลอยู่ที่ 122.8 ล้านตัน ต่ำกว่ารายงานกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ที่ 127 ล้านตัน ปัจจุบันเกษตรกรบราซิลเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วเหลืองคืบหน้าไปแล้ว 70% เร็วกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 60% โดยที่ตลาดติดตามรายงานพื้นที่เพาะปลูกสหรัฐฯ ฤดูกาล 2565/66 ที่จะประกาศในปลายเดือนมีนาคมนี้
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้น
ปลาป่น : ราคาเพิ่มขึ้น
     ประเทศเปรู อยู่ในช่วงการออกสำรวจน่านน้ำทะเล และคาดการณ์ว่าฤดูกาลจับปลาจะเริ่มในช่วงเดือนเมษายน ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนยังมีปริมาณการซื้อหน้าท่าเรือในระดับที่สูง จากความต้องการใช้อาหารสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาซื้อขายหน้าท่าเรือปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปลาป่นในสัปดาห์นี้ปรับขึ้น 1 บาท ทุกเบอร์  
       ปลาป่นเกรดกุ้ง ราคาปรับเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 50.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 51.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 44.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 45.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 43.20 บาท
       ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 42.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 โปรตีน ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 41.20 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะเพิ่มขึ้น
ข้าว : ราคาลดลง
      การซื้อขายข้าวตลาดต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 437 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 436 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 413 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 412 เหรียญสหรัฐฯ
      ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 1,320 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ยืนราคาที่กระสอบละ 1,240 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะเพิ่มขึ้น
สุกร : ราคายืนแข็ง
     สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันพระที่ 25 มีนาคม 2565 ที่กิโลกรัมละ 88-91 บาท และรายงานว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองที่เพิ่มสูงขึ้น ยังคงเป็นปัญหาหลักให้ภาคปศุสัตว์ ทำให้ภาระด้านต้นทุนการผลิตก้าวกระโดดขึ้น โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนเมื่อ 18 มีนาคม 2565 ประเมินต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 กระโดดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม
      ด้านความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังคงแปรผันตามความกังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิคที่ยังสูง ทุกภูมิภาคจึงยืนราคาต่อเนื่อง ขณะที่การเข้าสู่ฤดูร้อนจะเป็นปัจจัยให้สุกรโตช้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรขุนจะออกสู่ตลาดลดลงในช่วงต่อไป
ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 3,000 บาท (บวก/ลบ 88)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
     แม้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงสูง ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ส่งผลให้สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยังคงตรึงราคาไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์ม ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 15.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 26.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาเพิ่มขึ้น
     สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร วันที่ 24 มีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากฟองละ 3.30 บาท เป็นฟองละ 3.40 บาท
     ทั้งนี้ นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับกรมการค้าภายในเมื่อวันที่ 25 มีค.2565  กรมการค้าภายในขอให้สมาคมฯตรึงราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม อยู่ที่ 3.40 บาทต่อฟอง โดยสมาคมฯ ขอให้กรมฯช่วยตรึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เช่นกัน
      เพราะปัจจุบันต้นทุนเลี้ยงไก่ไข่ปรับตัวสูงขึ้น จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน จากกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย การปรับราคาขายไข่ไก่ เป็นไปตามกลไกตลาด หากต้นทุนสามารถยืนราคาไม่ปรับขึ้น ราคาไข่คละก็สามารถตรึงราคาขายได้เช่นกัน
      ปัจจุบันมีปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดประมาณ 40 ล้านฟองต่อวัน แต่จากสภาพอากาศร้อนและแปรปรวน อีกทั้งเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่แม่ไก่ถูกปลดกรงตามรอบเป็นจำนวนมาก แม้เดือนมีนาคมจะมีการปลดลดลงก็ตาม จึงส่งผลต่อผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้ไม่เท่าเดิม

แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าทรงตัว

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF